Thaiteenline-logo
home about law teens article hotline contact
 
     
 

บทความ 1 เปิดห้องแนะแนว

เปิดห้องแนะแนว

               

                ตึกสี่ชั้นตระหง่านอยู่ย่านธุรกิจกลางเมืองในกรุงเทพมหานคร บ่งว่ามีการก่อตั้งมาไม่ต่ำกว่าครึ่งศตวรรษ สถานที่นี้เป็นที่อบรมเยาวสตรีตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ม.6 เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเด่นดังที่ใครอยากส่งบุตรหลานมาเข้า

                ชั้นล่างของตึกเป็นลานกว้าง ซึ่งมักจะใช้เป็นที่จัดกิจกรรมกลุ่มของนักเรียนหรือเป็นที่ประชุมนักเรียนอย่างไม่เป็นทางการ

                ชั่วโมงสุดท้ายก่อนโรงเรียนเลิก นักเรียนชั้น ม.2 ถูกให้เข้าแถวเดินลงมาชั้นล่างเพื่อรับเสื้อกีฬาสี ขณะที่ยืนรอรับเสื้ออยู่นั้น ธรรมชาติของวัยรุ่นที่อยู่เฉยไม่ได้ จึงต้องคุยกันเสียงดังเป็นระยะ ๆ โดยมีหัวหน้าร้องตะโกนบอกให้เงียบ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นผลนัก เพราะคุณเธอทั้งหลายต่างก็เอาเสื้อที่ได้รับมาอวดกันพร้อมเสียงวิจารณ์ เซ็งแซ่ ยิ่งครูประจำวิชาไม่ลงมาคุมด้วยจึงเป็นโอกาสดียิ่งนักที่จะชื่นชมและตำหนิสิ่งที่อยู่ในมือ และแล้วอาจารย์ผู้แลกเสื้ออยู่ ต้องประหลาดใจแกมไม่พอใจ เมื่อ "สายทิพย์" เดินเข้าไปหาและถามว่า

                “อาจารย์คะ เบอร์แอลมีไหมค่ะ”

                “นี่เธอ เดินส่ายอาด ๆ เข้ามาเชียวนะ เห็นชั้นเป็นพนักงานขายเสื้อยืดตามศูนย์การค้าหรือไง จะเอาเบอร์นั้น เบอร์นี้ รู้ไหม…กว่าชั้นจะแจกให้เธอแต่ละคนได้นี่ ชั้นต้องวุ่นวายขนาดไหน เอาตัวเดิมไปนั่นแหละ ฉันละเบื่อจริง พวกทอม พวกดี้ ผิดเพศนี่ อยากจะใส่เสื้อโต ๆ ผิดรูปผิดร่าง…”

อาจารย์บ่นอะไรอีก สายทิพย์ไม่ได้ยิน สิ่งที่ทำ คือ ยกมือไหว้ และเดินกลับมาอยู่ในแถว กลุ่มเพื่อนเงียบกริบ สายตาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่า เห็นใจ ดูเหมือนครูสรุปทุกอย่างเองเสร็จ โดยไม่เปิดโอกาสให้เด็กสาวโต้แย้ง

                เราต้องยอมรับกันว่า วัยรุ่นเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อในชีวิต เป็นวัยที่หาแบบอย่างและเป้าหมาย เป็นวัยที่ผู้ใกล้ชิดและเกี่ยวข้อง ควรจะมีความพร้อมพอสมควรที่จะยอมรับว่า วัยรุ่นต้องการคำอธิบาย การตีความ การเรียนรู้ที่ถูกต้องและมีเหตุผล

                สายทิพย์เหลือบมองป้ายหน้าห้อง “ห้องแนะแนว” แวบหนึ่ง ก่อนที่จะใช้มือเคาะห้องอย่างประหม่า เมื่อเปิดประตูเข้าไป เธอก็พบกับรอยยิ้มของเจ้าของห้อง ขณะที่ก้มตัวลงไหว้ เธอก็ได้ยินเสียงทักทาย

                “สวัสดี สายทิพย์ หน้ามุ่ยมาเชียว ไม่สบายหรือ?”

                “เปล่าค่ะ"  แล้วสายทิพย์ก็ถูกเชื้อเชิญให้นั่งบนเก้าอี้รับแขกชุดเล็ก สีแดงสวยน่ารักที่ตั้งอยู่มุมหนึ่งของห้อง สายทิพย์นั่งนิ่งอยู่เฉยเกือบ 10 นาที โดยมีดิฉันนั่งอยู่ใกล้ๆ

                ในที่สุด สายทิพย์จึงเอ่ยออกมาว่า

                “ครูขา หนูเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายคะ” ดิฉันยิ้มให้อย่างอ่อนโยน พร้อมกับบอกความจริงแก่ลูกศิษย์อย่างให้ความมั่นใจว่า

                “หนูเป็นผู้หญิงค่ะ หนูมีอะไรจะเล่าให้ครูฟัง ใช่ไหมคะ”

                “ค่ะหนูอยากจะเล่า  คุณครูคงทราบว่า ใครๆในห้องเขาหาว่าหนูเป็นทอม และหนูก็อยู่ในกลุ่มเพื่อนสี่ห้าคนที่ถูกว่าเหมือนกัน เขาหาว่าพวกเราเป็น 'ทอมที่ไม่จีบผู้หญิง' พวกหนูก็ยอมรับนะคะในความที่พวกเราไม่เหมือนคนอื่น!”

                “อะไรที่หนูคิดว่าไม่เหมือนคนอื่นคะ” เด็กสาวสบตาดิฉันด้วยแววครุ่นคิด

                “คือหนูไม่ชอบใส่กระโปรง หนูชอบใส่เสื้อตัวโตๆ หนูไม่ชอบคุยกับเพื่อนๆในห้องที่ชอบกรี๊ดกร๊าด ดัดจริต พูดถึงเรื่องแฟชั่น นินทาคนอื่น พูดถึงผู้ชาย หนูไม่สนใจนี่ค่ะ…”

                “หนูคิดว่าหนูไม่เหมือนคนอื่นนี่ ตั้งแต่เมื่อไหร่คะ” ดิฉันป้อนคำถามเรียบๆ

                “หนูก็ไม่ทราบว่าเมื่อไหร่ แต่หนูรู้ว่า พ่อหนูอยากได้ลูกผู้ชาย เพราะลูกคนแรกเป็นผู้หญิง แล้วพ่อเลี้ยงหนูมา และเราก็สนิทกันมาก เราคุยกันได้ทุกเรื่อง ในขณะที่พี่สาวหนูเป็นลูกแม่ หนูก็เป็นลูกพ่อ หนูรู้ว่าพ่อรักหนูมาก เดือนกับดาวเท่านั้นที่พ่อหามาให้หนูไม่ได้ พ่อไม่อยากให้หนูใส่กระโปรง หนูก็ไม่เคยใส่นอกจากกระโปรงฟอร์ม หนูคิดว่า…การเป็นผู้หญิงนี่น่าเบื่อหน่ายนะคะ ไม่เห็นมีอะไรน่าสนใจ ตอนหนูอยู่ ม.1 หนูเหงามาก ไม่มีเพื่อน หนูพูดเฉพาะกับเพื่อนที่นั่งข้าง ๆ เพราะหนูเบื่อที่จะคุยเรื่องไร้สาระ พออยู่ ม.2 ครูก็เห็นว่าหนูสนุกสนานขึ้น มีเพื่อนกลุ่มเดียวกัน ที่คิดเหมือนกันหลายคน คือ มีความคิดเห็นเป็นของตัวเองและกล้าแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา แต่ในส่วนลึก ๆ หนูก็ยังไม่สบายใจค่ะ หนูทนไม่ค่อยได้ที่ใคร ๆ มาว่าหนูว่า เป็นทอม”

                “คุณแม่หนูเป็นยังไงคะ” ดิฉันยังคงถามไปเรื่อย ๆ ด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน

                “หนูไม่ค่อยได้คุยกับคุณแม่หรอกค่ะ เพราะคุณพ่อคุณแม่หนูเป็นนักธุรกิจส่งสินค้าออกนอก คุณแม่หนูจะขับรถออกจากบ้านแต่เช้าพร้อมกับคุณพ่อ คุณแม่หนูมีลักษณะเป็นผู้นำและเก่งกว่าคุณพ่ออีกนะคะ คุณแม่ทำงานเก่ง หาเงินเก่ง แต่งตัวเก่ง ปกติคุณพ่อคุณแม่จะกลับบ้านประมาณ 3 ทุ่ม หากยังไม่กลับ คุณแม่ก็จะโทรฯ มาเช็คว่าลูกกลับถึงบ้านแล้วหรือยัง บางครั้งกลับมาหนูก็นอนแล้ว…"

"…ถ้ามีเรื่องอยากจะคุย หนูก็จะตื่นมาคุย คุณแม่ก็มักจะบอกว่า 'ทิพย์…คุยเรื่องอะไรที่มันมีสาระเป็นเรื่องเป็นราวกว่านี้ได้ไหม แม่มีเรื่องจะต้องคิด ต้องทำมากมาย เรื่องเพื่อน เรื่องบ้าบอไร้สาระอะไรที่โรงเรียนน่ะ แม่ไม่รู้เรื่อง' หนูก็เลยหน้าแตกคนที่คุยได้ก็คือพ่อ บางวันเราคุยกันจนหลับคาเก้าอี้ พี่สาวหนูหรือค่ะ เขาไม่สนใจเรื่องอะไรในบ้าน แม้ว่าเขาจะแก่กว่าหนูเพียงปีเดียว เวลาว่างเขาก็จะดูทีวี คิดแบบเสื้อ มีแฟนมารับไปเที่ยวจนดึก คุณแม่ก็ไม่เห็นว่าอะไรนี่คะ แถมยังชมด้วยซ้ำไป ดุหนูว่าทำไมไม่เอาอย่างพี่ หนูก็เฉย ๆ"

"วันหยุดคุณแม่ก็ไปชอปปิ้งกับพี่สาว หนูก็ไม่ชอบไปอีกนั่นแหละ หนูจะไปเล่นกีฬากับคุณพ่อ พอหนูบอกคุณแม่ว่า หนูอยากมีเวลากับคุณแม่บ้าง คุณแม่ก็ว่า 'นี่เธอจะเอายังไงอีก ทุกวันนี้แม่ต้องเหนื่อยมาก ก็เพราะทำงานหาเงินมาให้ลูกเรียน ทิพย์จะเอาอะไร ต้องการอะไรก็ได้ทุกอย่าง ขออย่างเดียวให้เรียนหนังสือให้เก่งเท่านั้น' หนูรู้ว่า หากหนูสอบเป็นที่หนึ่งของห้อง หรือได้เกรด 4 คุณแม่จะดีใจมาก คุณแม่จะคุยกับใคร ๆ อย่างภาคภูมิใจที่ลูกสาวเรียนเก่ง  แม่อาจจะกอดหนู หอมแก้มหนู เพียงเพราะหนูเรียนเก่งเท่านั้น หนูรู้แต่ว่ามันเป็นเงื่อนไขเดียวที่จะทำให้หนูได้รับความรักจากแม่ เพราะแม้แต่คุณแม่จะสนใจคะแนนของหนู แต่ก็ไม่สนใจที่จะไปประชุมผู้ปกครอง คุณครูทุกท่านก็ทราบว่า คุณแม่ติดธุระเสมอ”

                “คุณแม่ของหนูก็เป็นผู้หญิง ที่หนูสามารถจะเลียนแบบอย่างที่ดีได้หลายอย่าง” ดิฉันพยายามที่จะชี้ให้สายทิพย์ค้นหาส่วนที่ดีของผู้ที่เป็นแม่

                “หนูไม่เห็นว่า คุณแม่หนูจะมีอะไรที่หนูน่าจะเลียนแบบ คุณครูคิดว่าผู้หญิงควรมีลักษณะยังไงหรือคะ” สายทิพย์ย้อนถามดิฉันบ้างด้วยความสับสนในรูปแบบของผู้หญิง

                “ผู้หญิงมีธรรมชาติที่อ่อนหวาน อ่อนโยน มีความละเอียดอ่อนทั้งร่างกายและความคิดในขณะเดียวกันผู้หญิงก็มีความเข้มแข็ง เพราะต้องรับภาระหนักทั้งในบ้านและนอกบ้านอย่างเช่น คุณแม่ของหนู ผู้หญิงควรมีความมั่นคงในตัวเอง มีความเชื่อมั่น พร้อมที่จะเป็นที่พึ่งพิงของผู้อื่น ผู้หญิงควรสะสมความดีงามต่าง ๆ ไว้เพื่อสามารถถ่ายทอดให้กับลูกได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง และเพื่อบรมลูกให้มีชีวิตที่ดี ครูคิดว่าคุณแม่ของหนูต้องมีลักษณะความเป็นผู้หญิงอยู่แน่ ๆ ถ้าไม่อย่างนั้นหนูคงไม่มีชีวิตที่ดีอย่างนี้มาได้ ใช่ไหมคะ แต่อุปสรรคอาจจะเป็นไปได้ว่า หนูยังไม่มีโอกาสได้ใกล้ชิดคุณแม่เท่าที่ควร”

                “จริงค่ะ เราไม่เคยทำอะไรร่วมกันเลย คุณแม่ไม่เคยสอนให้หนูทำอะไรในบ้าน คุณแม่ไม่เคยจัดบ้าน ไม่เคยทำกับข้าว ทุกอย่างเป็นหน้าที่ของคนใช้ บางครั้งหนูนึกอยากจะทำเอง คุณแม่ก็บอกว่า 'ไม่ต้อง'  'เกะกะ' 'เสียของ' หนูจะทำยังไงคะ ภาพพจน์ของแม่ในความคิดของหนูก็คือจุกจิก จู้จี้ ขี้บ่น หนูสับสนไปหมด หนูไม่ทราบว่าจะทำยังไงกับตัวเองหนูอายนะคะที่เพื่อนเรียกหนูว่าเป็นทอม แต่หนูไม่รู้…ไม่รู้จะทำยังไง!”

                “สายทิพย์ หนูเป็นผู้หญิงแน่ ๆ ไม่ต้องสงสัย เพียงแต่ว่าขณะนี้ภาพพจน์ของตัวหนูเอง คือผู้หญิงยังไม่ชัดเจนเท่านั้นเอง หนูยังไม่มีดอกาสที่จะดูดซับวิธีการดำรงชีวิตแบบผู้หญิงจากคนที่ใกล้ชิดหนูได้มากนัก เพื่อนที่หนูเห็นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนาของเขาที่จะนำไปสู่ความเป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์ต่อไปเท่านั้นเอง…

"…ธรรมชาติของผู้หญิงอ่อนไหวและรักสวยรักงาม อารมณ์มีส่วนสำคัญมาก ถ้าผู้หญิงคนไหนไม่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูให้รู้จักควบคุมตัวเอง ก็อาจจะมีแนวโน้มที่จะกรี๊ดกร๊าดและนินทาอย่างหนูบอก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าลักษณะของผู้หญิงที่ดีควรจะเป็นอย่างนั้น หนูก็มีลักษณะแบบหนึ่ง ที่น่ารัก หากหนูทำตัวให้สดชื่นตามวัย จริงใจและน่ารักกับทุกคน ไม่มีปัญหาว่าหนูจะไม่เป็นผู้หญิง การใส่กางเกงก็ไม่ใช่สิ่งเสียหายอะไร แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเห็นว่าควรใส่กระโปรงเราก็ใส่ได้อย่างไม่เคอะเขิน การเล่นกีฬา การออกกำลังกายก็เป็นสิ่งที่ดี…"

"…ถ้าเมื่อไหร่คุณแม่หรือพี่สาวชวนไปเดินตามศูนย์การค้า ก็น่าจะไปบ้าง ครูเห็นว่า การไปเปิดหูเปิดตาดูสิ่งที่ดี ๆ เป็นประโยชน์ต่อเราในอนาคต ครูทราบว่า หนูอยู่ในวัยที่เปิดรับสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายทั้งในด้านลบและด้านบวก แต่ถ้าหนูรับด้วยความคิดพิจารณาด้วยเหตุผล ด้วยความเข้าใจ มันจะเสริมสร้างบุคลิกที่ดีให้กับหนูต่อไป ครูเข้าใจหนูที่คุณแม่ไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสที่จะใกล้ชิดและอบรมหนูได้ เพราะคุณแม่มีงานมาก หนูอาจจะช่วยตัวเองได้ เพราะหนูก็โตพอที่จะทำอะไรเองได้แล้ว เช่น จัดห้อง ซักรีดเสื้อผ้าด้วยตนเองหรือหาโอกาสทำอาหารบ้าง เพราะงานเหล่านี้ไม่ใช่งานของคนใช้ แต่เป็นงานที่สร้างความละเอียดอ่อนให้กับจิตใจเรา อีกหน่อยหนูมีครอบครัว หนูจะได้สอนคนอื่นให้ทำได้ โดยเฉพาะลูกหลานของเรา…"

"…ครูไม่คิดว่าลักษณะความเชื่อมั่น การพูดตรงไปตรงมา หรือมีความคิดเห็นของตนเองไม่ใช่ลักษณะของผู้หญิงเพราะเป็นลักษณะสากลที่ดี หากเรามีการแสดงออกถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยวิธีการแบบผู้หญิงที่นุ่มนวล” ดิฉันยิ้มให้กับดวงตาใสแจ๋วที่จ้องมองมาอย่างตั้งอกตั้งใจก่อนที่จะถามต่อ

                “หนูคิดอย่างไรคะ ?”

                “หนูเข้าใจตัวเองมากขึ้นค่ะ หนูอยากเป็นผู้หญิงที่มีความเชื่อมั่นและเป็นอิสระ”

                “ค่ะ…แต่หนูต้องมีพลังใจที่เข้มแข็ง ครูคิดว่าหนูไม่ควรหวั่นไหวไปกับคำพูดของคนอื่น ตราบเท่าที่เราทราบว่า เรากำลังทำอะไร ด้วยความพากเพียรสม่ำเสมอ ครูให้กำลังใจค่ะ แต่ความสับสนหวั่นไหวเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา ซึ่งหนูมาหาครูได้ ถ้าหนูมีอะไรไม่สบายใจอีกก็อย่าลืมมาคุยกับครูนะคะ”

                “หนูกราบขอบพระคุณคุณครูค่ะ”

 

                สายทิพย์เดินออกจากห้อง “แนะแนว” ไปอย่างยิ้มแย้ม ดิฉันยิ้มอย่างโล่งใจ แน่นอน… การพูดคุยกับครูแนะแนวเพียงครั้งเดียว ไม่ได้หมายความว่าเธอเข้าใจโลกไปเสียทุกอย่าง แต่อย่างน้อยเธอมั่นใจได้ว่า ถ้าเธอมีปัญหาอะไร ณ ห้องนี้ “แนะแนว” คือสถานที่เธอจะมาแสวงหาความเข้าใจ กำลังใจ ความอบอุ่นใจได้ตลอดเวลา…

 

                จากประสบการณ์ของการให้คำปรึกษาแนะนำทางโทรศัพท์และ "โครงการฮอทไลน์เคลื่อนที่สู่โรงเรียน" ของเรา กรณีศึกษาจำนวนมากสะท้อนให้เราเห็นว่า เยาวชนโดยเฉพาะวัยรุ่น ต้องการการช่วยเหลือทางด้านจิตใจจากโรงเรียนอีกมาก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า สภาพของสังคมที่แปรปรวนและผันแปรไปอย่างรวดเร็วนั้น กระทบกระเทือนทุกชีวิตในสังคม ทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตนเอง ลักษณะของปัญหาก็ซับซ้อนขึ้น ผู้มีสุขภาพจิตที่ดีเท่านั้นที่สามารถคงความเป็นบุคคลที่มั่นคงเอาไว้ได้ และมีพลังพอที่จะช่วยเหลือคนอื่นที่อ่อนแอกว่า

                เยาวชนเป็นวัยที่ต้องให้ความค้ำชู แนะนำเป็นพิเศษ เพราะเป็นวัยที่สะสมข้อมูลเพื่อสร้างบุคลิกของตนเอง ครูบทบาทสำคัญมากในการที่จะปัดเป่า หรือเปลี่ยนแปลงภาวะความคับข้องใจ และชี้แนะวิธีการดำรงชีวิตที่ถูกต้องแต่บางครั้งเราต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าครูจำนวนไม่น้อยที่เกิดความไม่แน่ใจในเป้าหมายและอุดมการณ์ของความเป็นครู ทำให้เกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย และไม่กระตือรือร้นที่จะปรับปรุงตนเอง เพื่อสร้างความพร้อมที่จะสามารถเป็นผู้ให้คำปรึกษาหารือกับเยาวชนได้

                ดังนั้น "ครูแนะแนว" จึงเป็นครูผู้หนึ่ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในส่วนให้ความช่วยเหลือทางด้านความคิดจิตใจในโรงเรียน เพื่อเสริมสร้างเยาวชนให้มีการพัฒนาทางด้านวิชาการและการดำรงชีวิตควบคู่กันไป เมื่อไรที่ครูโรงเรียนสามารถช่วยเด็กได้อย่างเต็มที่ หวังว่าเมื่อนั้น ศูนย์ฮอทไลน์คงจะมีเพื่อนร่วมงานที่ดี…

 

 
 
  Counter 203,484
 
 
© 2012 Thaiteenline. All Rights Reserved. หน้าหลัก | ความเป็นมา | กฎหมายเด็กและครอบครัว | วัยรุ่นอยากรู้ | บทความวัยรุ่น | ฮอทไลน์เคลื่อนที่ | ติดต่อเรา