Thaiteenline-logo
home about law teens article hotline contact
 
     
 

บทความ 6 ครูขา...หนูมีปัญหาความรัก

ครูขา…หนูมีปัญหาความรัก           

 

“วันแห่งความรัก” เพิ่งผ่านไปยังไม่ทันหายเหนื่อย ที่ว่าเหนื่อยนั้น ก็คงจะเป็นเพราะทุกคนต้องการแสดงความรักให้กันและกันหนักมากไปหน่อย ในช่วงระหว่างสัปดาห์ “วันวาเลนไทน์” 14 กุมภาพันธ์นั่นเอง เริ่มต้นจาการจัดบอร์ดรวม ที่มาจากบอร์ดในห้องเรียนแต่ละห้อง สติกเกอร์รูปหัวใจถูกติดตามที่ต่าง ๆ แล้วแต่ความพอใจ รวมทั้งติดตามเสื้อผ้าของเพื่อน ๆ ด้วยจนลายตาไปหมด ดอกกุหลาบหลายหลากสีโดยเฉพาะสีแดงขายดีเป็นพิเศษ โดยผู้ซื้อไม่ได้เกี่ยงราคาและความสวยงามเท่าไร ขอให้เป็นเพียงกุหลาบแดงเท่านั้นเป็นพอ การ์ดที่เต็มไปด้วยความรู้สึกสวยงามถูกถ่ายทอดเป็นตัวอักษร ร่อนไปในหมู่ผู้ที่รัก ฝ่ายแนะแนวเป็นแหล่งหนึ่งที่ผู้คนได้มาถ่ายเทความรักให้ โดยเฉพาะช่วงวันเวลาอันพิเศษนี้

 

                ขณะที่ดิฉันกำลังนั่งสะสางงานที่ละเลยไปในช่วงสัปดาห์ที่ป่านมา "สายใจ" นักเรียนชั้น ม.3 วิ่งกระหืดกระหอบมาที่หน้าห้องแนะแนว และบอกว่า “คุณครูขา 'ดวงฤทัย' เป็นลมอีกแล้ว ! อยู่ที่ห้องพยาบาลค่ะ”

ดิฉันลุกขึ้นทันทีด้วยอาการสงบ และเข้าใจในเหตุการที่เกิดขึ้นทุกอย่าง

                “ขอบใจนะ สายใจ แล้วครูจะตามไป” เมื่อดิฉันไปถึงห้องพยาบาล ดิฉันรู้สึกไม่พอใจในภาพที่มองเห็น เด็กกลุ่มใหญ่รุมล้อมเตียงอยู่ อีกทั้งครูสามสี่คน รวมทั้งภารโรงที่ยืนคอยเอาข่าวอยู่ โดยมีพยาบาลนั่งทำหน้าเหนื่อยหน่ายใจที่ไม่สามารถบอกให้คนที่รุมล้อมเตียงอยู่ให้ออกไปได้ เพราะทุกคนก็มีความอยากรู้อยากเห็นที่รุนแรง

                “ขอให้ทุกคนออกจากห้องนี้ไปก่อนได้ไหมคะ เพราะดวงฤทัยคงต้องการพักผ่อนและครูต้องการคุยกับเขาเป็นการส่วนตัวด้วย” ดิฉันสังเกตเห็นว่าใบหน้าของครูสามสี่คนนั้นเปลี่ยนไปเล็กน้อย แต่ทุกคนก็ยอมออกจากห้องนั้นไปโดยดี

ครูแนะแนวจะต้องมีความเข้มแข็งในตนเองพอสมควรที่จะตัดสินใจบอกและทำหน้าที่แน่ใจว่าเป็นผลประโยชน์ต่อหน้าที่ซึ่งตนเองรับผิดชอบอยู่ บุคลิกภาพส่วนตัวมีผลต่อหน้าที่นี้อย่างมากทีเดียว

               

หลังจากที่บรรยากาศอยู่ในความสงบแล้ว ดิฉันก็ได้ยินเสียงร้องของดวงฤทัยอย่างชัดเจน และดังขึ้นทุกที

                “ถ้าหนูอยากจะร้องก็ร้องไป ครูจะคอย ถ้าพร้อมจะพูดอะไรด้วยเหตุผลกับครู ครูก็ยินดี จะนั่งอยู่ตรงนี้แหละ”

                ดวงฤทัยเงียบได้ในทันที เพราะการร้องนั้นเป็นการแผดเสียงออกมาโดยไม่มีน้ำตา ซึ่งดิฉันคุ้นเคยกับการกระทำอย่างนี้มาหลายครั้งแล้ว

                “เมื่อเงียบเสียงแล้ว เล่าให้ครูฟังซิว่าเกิดอะไรขึ้นอีก” ดิฉันพยายามจ้องมองดวงตาใสที่มีแววความสับสนที่นอนอยู่ตรงหน้า ดวงฤทัยเป็นเด็กสาวอายุ 15 ปี อยู่ชั้น ม.3 ถ้ามองอย่างผิวเผินแล้วจะเห็นว่า เธอเป็นเด็กที่มีความน่ารักทั้งรูปร่างหน้าตา วัยที่สดชื่น บุคลิกภาพที่คล่องแคล่ว รวมทั้งความฉลาด ไหวพริบที่จะประจบเอาใจครูบาอาจารย์ แต่ดวงฤทัยล้มเหลวมากในความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ คนที่ใกล้ชิด รวมทั้งพ่อแม่

                “ชั่วโมงพละค่ะ ครูพละให้นักเรียนวิ่งรอบสนาม หนูร้อนมากค่ะ วิ่งไม่ไหว หนูไม่ค่อยสบายอยู่แล้ว หายใจไม่ออกค่ะ ใจสั่น ปวดหัวมาก ปวดตามลำตัวไปหมดเลยค่ะ หนูก็เลยเป็นลม เพื่อนช่วยกันอุ้มมานอนในนี้ค่ะ เพื่อน ๆ เขาว่าหนูว่าเป็นลมเรียกร้องความสนใจ ครูพละก็ดุหนู บอกว่าถ้าเป็นอย่างนี้อีก จะปล่อยให้ตายไปเลย หนูเป็นลมจริง ๆ นะคะคุณครูขา”  น้ำเสียงออดอ้อนปนเสียงสะอื้น และน้ำตาก็เริ่มไหลออกมาเป็นทาง

                “ครูเข้าใจว่าหนูเป็นลมจริง ๆ ตอนนี้หน้าตาหนูแจ่มใสขึ้นแล้วนี่ ลุกขึ้นนั่งคุยกันไหวไหมคะ ? หรือว่าจะดื่มนมสด ครุจะได้ให้เพื่อนจัดการให้ หนูอาจจะเหนื่อยเกินไป” เธอพยักหน้า พร้อมกับยกมือขึ้นกล่าวขอบคุณ หลังจากที่เธอได้ดื่มนมสดแล้วเธอก็สามารถพูดคุยกับดิฉันได้ตามปรกติ

                “คุณครูขา…หนูละอายใจเหมือนกันค่ะ ที่ทุกคนในโรงเรียนรู้เรื่องของหนูหมดแม้กระทั่งลุงสมภารโรง ทุกคนหาว่าหนูเป็นลมเพื่อเรียกร้องความสนใจ แต่หนูเป็นจริง ๆ นะคะ หนูไม่ได้แกล้งเป็น หนูรู้ว่าหลายคนดูถูกหนู แต่จริง ๆ แล้ว มีน้อยคนที่เข้าใจความรู้สึกและเรื่องราวในชีวิตของหนูจริง ๆ หนูจะพูดถึงมันอีกเป็นครั้งสุดท้าย และหนูจะไม่เล่าให้ใครฟังอีก…” เธอหยุดเว้นช่องว่างให้ดิฉันแทรกเพื่อขอความมั่นใจ ถ้าดิฉันคิดไม่ผิด

                “ครูพร้อมที่จะเข้าใจหนู และยินดีที่จะช่วยทุกอย่างเท่าที่ครูจะช่วยได้ ครูรู้ว่าหนูเป็นเด็กที่มีความสามารถหลายอย่าง สดชื่นและสามารถที่จะทำให้ตนเองมีความสุขได้ ทั้งชีวิตในปัจจุบันและในอนาคต เพียงแต่หนูจะพยายามเข้าใจอะไรบางอย่างในชีวิตและก้าวข้ามมันไปได้”

                เธอถอนหายใจ ดวงตาบอกถึงความลังเลที่จะบอกอะไรที่เป็นความรู้สึกลึกอยู่ในจิตใจ

 

                “คุณครูรู้ไหมคะว่า หนูไม่ได้รับความรักจากใครเลยในช่วงวันวาเลนไทน์นี้ นอกจากที่คั่นหนังสือรูปหัวใจที่ฝ่ายแนะแนวแจกให้ หนูรักมันมาก หนูจับมัน ใช้มันทุกวัน…

                “หนูคิดยังไงคะในเรื่องนี้ ที่หนูไม่ได้รับอะไรจากเพื่อน” ดิฉันเข้าใจในความเจ็บปวดของเธอ แต่อะไรที่กลัดหนองอยู่ จำเป็นที่จะต้องรักษามิใช่หรือ ?

                “หนูทราบว่าเพื่อน ๆ ในห้องไม่มีใครรักหนู ชอบหนู คุณครูก็ทราบว่าหนูไปไหนหนูก็ไปคนเดียว ตอนแรกหนูก็รู้สึกอึดอัดใจต่อมา หนูก็ไม่แคร์ กลับชอบเสียอีกที่หนูสามารถทำอะไรได้อย่างที่หนูพอใจ ไม่ต้องคอยเอาใจหรือตามใจใคร ความจริงแล้วหนูก็เกิดการสับสน เพราะหนูเห็นเพื่อนที่เขาชอบอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ เขามักจะทำอะไรด้วยกัน และพร้อมกันเสมอ บางอย่างหนูก็ไม่เข้าใจ เช่น ไปห้องน้ำด้วยกัน ไปหาครูด้วยกัน ไปไหนก็ไปด้วยกัน ถ้าต้องไปเองก็ไม่ยอมไป หนูทำอย่างเขาไม่ได้หรอกค่ะ และหนูก็ถูกเพื่อนว่า หาว่าหนูอยากเด่นอยากดัง อยากได้หน้า ประจบคุณครู”

                “หนูพอจะยกตัวอย่างได้ไหมคะว่าหนูทำอะไรเพื่อถึงว่าอย่างนั้น”

                “เช่น พอหมดชั่วโมง เปลี่ยนชั่วโมงใหม่ หนูก็ออกไปลบกระดาน เพราะหนูรู้ว่าคุณครูจะต้องเขียนกระดาน หนูก็จะไม่คิดอะไรถ้าคนอื่นไปลบ แต่ก็ต้องเป็นหนูทุกที เพราะเขาก็จะไม่ไปลบกัน คุณครูต้องการใช้ปากกา คุณครูก็มองมาทางนักเรียน หนูรู้หนูก็ออกไปเอาปากกาของหนูไปให้คุณครูยืม…เพื่อน ๆ ก็หาว่าหนูอยากได้หน้า ขณะนี้หนูได้เป็นประชาสัมพันธ์ของโรงเรียน เพื่อน ๆ ก็ยิ่งว่าหนูอีก หนูเป็นนักกีฬาด้วยเพราะรุ่นพี่มาชวนหนู และหนูก็ได้รับการคัดเลือกเข้าเล่นทีมของโรงเรียนเพื่อน ๆ เขาทำไม่ได้อย่างหนู หนูทำอะไรหนูก็ทำได้ หนูทำกิจกรรมหลายอย่างนะคะ” ประโยคหลัง ๆ นี้ ดวงฤทัยเอ่ยออกมาด้วยความภาคภูมิใจ

                “หนูคิดว่าเพื่อน ๆ อิจฉาหนู ใช่ไหมคะ ? จริง ๆ แล้วหนูมีความภูมิใจในตัวเองมาก ๆ ใช่ไหมว่าเพื่อน ๆ ไม่มีความสามารถเท่าเทียมหนู คือ หนูดูถูกเขา” ดิฉันใช้คำพูดตรง ๆ เพื่อไม่ให้เธอหลีกเลี่ยงได้           

                “หนูไม่ได้ดูถูก เมื่อเขาไม่ได้ทำในส่วนที่เขาควรจะทำ แต่หนูทำ เขาทำไม่ได้อย่างหนู เขาจะมาโทษหนูได้ยังไง”  น้ำเสียงเริ่มแสดงความก้าวร้าว ซึ่งพร้อมที่จะแสดงอารมณ์รุนแรงได้ทันที

                “เรื่องนี้ก็จริงนะคะในความหมายของหนู แต่ครูอยากให้หนูมองชีวิตอีกแง่หนึ่ง ในแง่ของความเป็นจริงอันละเอียดอ่อน ไม่ใช่ในแง่ของการพิพากษาตัดสินหรือจะมาเอาผิดเอาถูกหรือแข่งขันกัน แต่ครูอยากให้หนูมองชีวิตในแง่ของการแบ่งปันให้โอกาสซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือกัน เพราะมนุษย์เราเกิดมาดีกันคนละแบบ แตกต่างกัน…"

"…ครูจะยกตัวอย่างเช่น ถ้าหนูเดินไปตามถนน เห็นขอทานพิการหนูจะเชิดหน้าหนีไปไม่ได้ ถ้าหนูเข้าใจว่า เขาไม่ได้อยากพิการ เขาไม่อยากเกิดมาจนหรอก แต่ด้วยเหตุผลหลายอย่างในชีวิต ทำให้เขาต้องตกมาอยู่ในสภาพนี้ จริง ๆ แล้ว เขามีความดีอยู่ในตัวหลายอย่างที่เรามองไม่เห็นถ้ามีอะไรที่เราสามารถช่วยเขาได้ ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเขาได้ อย่างน้อยมองเขายิ้มให้กำลังใจ นี่คือ การแสดงความรักในภาคปฏิบัติที่เราทุกคนทำได้ มนุษย์เราไม่มีใครยากจนจนกระทั่งไม่มีอะไรที่จะแบ่งปันให้ใครหรอกค่ะ…

"…หากเราทำได้ เราจะได้เพื่อน ได้มิตรภาพ แต่ถ้าหนูไม่เข้าใจช่วยไม่ได้นี่ คุณเกิดมาอย่างนี้ โชคร้ายไป คุณขี้เกียจ ไม่หางานทำเองนี่ อย่างนี้ก็จบ ช่องว่างระหว่างความเป็นเพื่อนก็ห่างกันออกไปอีก ครูอยากจะเอาตัวอย่างนี้ดึงเข้ามาในเรื่องของหนู…หนูโชคดีที่หนูเป็นคนเก่งทำอะไรก็ทำได้ ในขณะเดียวกัน ถ้าหนูแบ่งปันโอกาสดี แบ่งพรที่มีอยู่ในตัวหนูให้เพื่อนบ้าง เช่น เสนอโอกาสให้เพื่อนได้ช่วยแทนที่จะทำเอง ยอมที่จะรับความช่วยเหลือจากเพื่อน เช่น ถ้าเรารู้ว่าครูต้องการปากกาเราอาจจะสะกิดเพื่อนว่า เธอมีปากกาให้คุณยืมไหม ครูต้องการปากกานะ…

"…ครูคิดว่า…ถ้าหนูพยายามปรับตนเองอีกหน่อย หนูจะเป็นคนที่เพื่อนชอบ และรัก ไม่แน่นะคะวันวาเลนไทน์ปีหน้า หนูอาจจะได้หัวใจของเพื่อนทั้งห้องก็ได้ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไม่ยากเกินไปสำหรับหนู ใช่ไหมคะ ?”  ดิฉันยิ้มให้กำลังใจอย่างเต็มที่ และได้รับการยิ้มตอบอยางรู้บุญคุณในความปรารถนาดี

 

                เรื่องของดวงฤทัยจบตอนไปแล้วเมื่อดิฉันส่งเธอกลับเข้าห้องเรียน ดิฉันกลับมาที่ห้องแนะแนว ก่อนที่จะเริ่มทำงานต่อในท่าทีสบายเท่าที่ทำได้ในห้องทำงาน ดิฉันปล่อยความคิดคำนึงไปถึงครั้งแรกที่ได้คุยกับดวงฤทัย

                “คุณครูขา หนูไม่ได้ภูมิใจในคุณพ่อคุณแม่หนูหรอกค่ะ หนูรังเกียจอาชีพของท่านด้วย ไม่สุจริต หลอกลวงคน ได้เงินมาบนความทุกข์ของคนอื่น หนูพยายามคิดภูมิใจในชื่อของหนูนะคะ ดวงฤทัย เป็นดวงใจของพ่อแม่ แต่หนูก็คิดไม่ลงเพราะแม่บอกว่า พระตั้งให้ แม่ได้ตั้งเองหรอก แม่เขาเกิดหนูมา เขาไม่เลี้ยงหนูหรอกนะคะ ให้ย่าเลี้ยง ทั้งพ่อและแม่ไปทำมาหากินต่างจังหวัด…"

"…หนูต้องพยายามรักษาตัวรอดอยู่ตลอดเวลาในดงของเสือสิงห์กระทิงแรด คือบรรดาอา ๆ ทั้งหลายของหนู ที่คอยกระแนะกระแหน ดูถูกพ่อแม่ของหนูอยู่ตลอดเวลา ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ย่าคนเดียวที่พอจะเข้าใจหนู แต่ย่าหัวโบราณ หนูทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็ไม่ได้ เช่น ไม่ยอมให้หนูกลับบ้านผิดเวลา ไม่ยอมให้หนูไปเที่ยว ไม่ให้หนูคบกับคนแปลกหน้า หนูรู้สึกอึดอัดใจมาก จนย่าบอกว่า หนูแสนงอน เจ้าอารมณ์ ก้าวร้าว พอหนูอยู่ ม. 1 ย่าก็ให้หนูไปอยู่กับอาคนที่แต่งงานไปแล้ว ลูกเขาก็อายุเท่า ๆ กับหนูนี่แหละค่ะ เรียนชั้นเดียวกันด้วยแต่คะละห้อง 'กนกกาญจน์ ' ไงคะ…"

"…อาหนูเขาต้องการให้หนูมาเป็นพี่เลี้ยงลูกเขาซึ่งอ่อนแอทำอะไรไม่เป็นพอหนูมาอยู่กับเขานะคะ หนูก็พยายามช่วยทำอะไรให้เขา แต่เขาไม่ยอม อาก็มาว่าหนูหาว่าหนูอิจฉาลูกเขา หนูก็อยู่กับอาไม่ได้ย่าส่งหนูไปอยู่กับอาอีกคนหนึ่ง หนูไม่ทราบว่าทำไมหนูถึงเป็นเหมือนลูกบาลที่โยนกันไปโยนกันมา ตอนนี้หนูจะกลับไปอยู่กับย่าแล้วละค่ะ คุณครูขา แม่หนูเขาก็เฉย ๆ เขาไม่ว่าอะไรหนูเลย หนูดุแม่ด้วยซ้ำที่แม่ไม่สนใจหนู ส่วนพ่อนั้น เขาไม่สนใจอะไรเลย นอกจากธุรกิจของเขา หนูคิดว่าถ้าหนูเรียนจบ ม. 3 หนูจะไปอยู่กับแม่ เพราะหนูคิดว่า แม่จะส่งหนูเรียนต่อได้ เรื่องอื่น ๆ หนูไม่สนใจ…หนูอยากจะเป็นประชาสัมพันธ์ค่ะ”

 

                แม้ว่าดวงฤทัยจะมีพลังในตัวเองสูงในการก้าวไปสู่อนาคต แต่สิ่งแวดล้อมของการ “เลือกเกิดไม่ได้” ของเธอนั้น มีอิทธิพลในชีวิตของเธอสูงมาก เธอมีอาการแปรปรวนทางด้านจิตใจมีความแตกต่างในนิสัยคล้ายกับว่าเป็นบุคคลสองคน เวลาน่ารักก็น่ารักเอามาก ๆ เวลาร้ายกาจมา ใคร ๆ ก็เอาไม่อยู่ เธอเก็บกดความรู้สึกไว้สูง และไม่สามารถที่จะแสดงความรู้สึกภายในใจออกมาได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่เธอหิวกระหายความรักมาก ๆ เธอจึงตกเป็นเหยื่อของความเจ็บป่วยทางด้านร่างกาย ซึ่งแสดงออกมาโดยการเป็นลม ปวดตามลำตัว ปวดศรีษะมากๆ ฯลฯ แล้วแต่ความหนักเบาของอาการซึ่งภาษาจิตวิทยาเรียกว่า "โรคอุปาทาน" (Hysteria) ความร้ายแรงของการแสดงออกนั้น ขึ้นอยู่กับความแปรปรวนของจิตใจหรือความรุนแรงของสิ่งที่มารบกวนคุณภาพชีวิต  บุคลิกภาพที่เห็นได้ชัด คือ มีอารมณ์ไม่เหมาะสมกับวัย มีความยิ้มแย้มแจ่มใสปนอารมณ์ที่ค่อนข้างอ่อนไหว อารมณ์รุนแรงขึ้น ๆ ลง ๆ จากการกระตุ้น เช่น รัก โกรธ เกลียด และจะหมดไปโดยง่ายยากที่ใคร ๆ จะเข้าไปเป็นเพื่อนได้ยืดยาว

                ดิฉันเคยพาดวงฤทัยไปหาจิตแพทย์ เธอได้รับยามารับประทาน อีก 15 วันหมอนัดให้ไปหาอีก และรับยามาอีกครั้ง บอกว่าไม่ต้องไปหาอีกแล้ว ดิฉันเข้าใจได้เองว่า ยาที่จิตแพทย์ให้นั้นเป็นยาลดความเคร่งเครียดของประสาท เธอควรได้รับความช่วยเหลือในลักษณะของจิตบำบัดแบบประคับประคอง

 

ครูแนะแนวเป็นบุคคลแรกในโรงเรียนที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ที่จะสร้างให้เด็กเกิดความศรัทธา ไว้ใจในการระบายความเครียดของอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ให้ความรัก ความอบอุ่นเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปในชีวิต บุคลากรอื่น ๆ ในโรงเรียนก็ควรจะให้ความร่วมมือในการให้คุณค่าและรักษาความลับด้วย เรื่องชีวิตส่วนตัวของเราแต่ละคนนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องการนักวิชาชีพเฉพาะ ครูอาจารย์ที่ไม่เข้าใจปัญหาของเด็กจริง ๆ แล้ว หรือไม่สันทัดในเทคนิคการให้คำปรึกษาแนะนำ อาจจะกลับกลายเป็นผลร้ายต่ออนาคตของเด็กได้

                “วันวาเลนไทน์” ปีนี้มีความหมายสำหรับดิฉันและดวงฤทัยมาก และมีความหมายกับทุกคนที่พยายามเปิดใจของตนเองให้กว้าง ใส่ใจ เข้าใจ เห็นคุณค่าของความเป็นเพื่อน ความเป็นคนที่รักกัน ซึ่งเกิดขึ้นได้ในทุกระดับ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะ พร้อมที่จะแบ่งปันชีวิตของตนเองกับทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอย่างชื่นชมยินดี

 
 
  Counter 203,497
 
 
© 2012 Thaiteenline. All Rights Reserved. หน้าหลัก | ความเป็นมา | กฎหมายเด็กและครอบครัว | วัยรุ่นอยากรู้ | บทความวัยรุ่น | ฮอทไลน์เคลื่อนที่ | ติดต่อเรา