Thaiteenline-logo
home about law teens article hotline contact
 
     
 

บทความ 3 ครูขา...หนูสับสน

ครูขา…หนูสับสน

 

          อากาศช่วงเช้าในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ชวนให้เศร้าซึมไม่น้อยบางคนก็คิดได้ว่า ก็ฤดูฝนนี่นะ บ่าย เย็น ฝนตกเป็นเรื่องธรรมดาที่ยอมรับกันได้ บางคนก็บอกว่า ดีเปรสชั่นดีแล้ว เบื่อจริงซักผ้าก็ไม่แห้ง ไปไหนก็ไม่สะดวก คนที่อยู่ห่างไกลบ้าน บรรยากาศแบบนี้ มองออกไปนอกหน้าต่าง คิดถึงบ้าน คิดถึงคนรักก็เรียกอารมณ์ เรียกน้ำตาได้เหมือนกันนะนานาจิตตังนั่นแหละ สำหรับครูแนะแนวอย่างดิฉัน ระยะนี้เศร้าซึมและอารมณ์ไม่ค่อยปลอดโปร่ง  คงมีสาเหตุมาจาก งานยุ่งพักผ่อนไม่พอ และเอาปัญหาของญาติพี่น้องรอบตัวมาเป็นปัญหาของตนเอง จนขาดอิสรภาพ

          ดิฉันไปถึงโรงเรียนด้วยความรู้สึกหนักอึ้ง นึกเห็นแก่ตัวอยู่ในใจว่า ตอนบ่ายมีเวลาว่างน่าจะหนีไปงีบที่ห้องพยาบาลหน่อยก็คงจะดี นับเป็นการอู้หน้าที่ที่ครูบางคนมักจะทำกันอยู่ และในหลายรูปแบบ แต่ยังไม่ทันได้ชื่นชมกับความคิดที่เข้าข้างตนเองได้เท่าไร สายตาก็เหลือบไปเห็นการ์ดรูปดอกไม้สีสวยที่วางอยู่บนโต๊ะรับแขก สัญชาติญาณความตื่นตัวระแวดระไวของดิฉันถูกปลุกขึ้นมาทันทีบอกกับตัวเองว่า “ปัญหาของฉันน้อยนิดไปเสียแล้ว” เมื่อได้อ่านข้อความในการ์ดเล็กสีสวยนั้น

          “ครูขา โลกของหนูพังทลายแล้ว หนูไม่มีใครเลย

"ชนิดา  ภาพของชนิดา เด็กสาววัย 17 นักเรียนชั้น ม. 6 ได้ลบเลือนความกังวลในเรื่องส่วนตัวของดิฉันไปจนหมดสิ้นเธอเป็นเด็กสาวที่เป็นผู้ใหญ่เกินวัย ละเมียดละไมอ่อนไหวในความรู้สึก จนทำให้เธอเป็นที่ไว้วางใจของบรรดาเพื่อน ๆ ในห้องสามารถปลอบใจและรองรับอารมณ์ของเพื่อน ๆได้อย่างใจเย็น อย่างไรก็ตาม แววตาเศร้าของเธอทำให้ดิฉันพยายามระแวดระวังความเคลื่อนไหวของเธออยู่ ในดวงตาคู่นั้นมีอะไรซ่อนเร้นอยู่และเมื่อดิฉันพบสัญญาณแห่งการขอความช่วยเหลือของเธอ ดิฉันรีบฉวยโอกาสทันที

          ออดหมดเวลาพัก 10 นาทีภาคเช้าดังขึ้น ดิฉันไปหาชนิดาที่ห้องเรียน ซึ่งดิฉันเจตนาทำเช่นนั้น แทนที่จะใช้วิธีให้นักเรียนคนอื่นไปเรียกมาพบ ที่ระเบียง ม.6/2 นั่นเอง ดิฉันเห็นชนิดายืนอยู่คนเดียวมุมระเบียง สายตาเหม่อมองออกไปอย่างไร้จุดหมาย

          “ชนิดา…ขอบใจมาก ตารางเรียนวันนี้หนูไม่ว่าเลยทั้งวัน เย็นนี้หลังเลิกเรียนเราพบกันที่ห้องแนะแนวนะคะ  ชนิดาตกใจสะดุ้งเล็กน้อยที่ไม่คาดคิดว่าดิฉันจะมาหายกมือขึ้นปิดปาก น้ำตาคลอ ดิฉันตบไหล่เธอเบาๆ "เอาไว้คุยกันเย็นนี้นะคะ แล้วดิฉันก็เดินผ่านไปเพื่อเข้าหัอง .6/4 ในชั่วโมงแนะแนว

          ดิฉันยังเดินไม่ถึงหน้าห้อง ก็ได้ยินเสียงดังลั่นของนักเรียนที่ตั้งศาลเตี้ย พิจารณาความอะไรกันอยู่ เมื่อนักเรียนเห็นดิฉันเดินมา ทั้งห้องก็หยุดการทะเลาะกันทันที หัวหน้าบอก “นักเรียนกราบ” และดิฉันได้สัมผัสว่าในหัวใจเด็กแต่ละคนังไม่พร้อมที่จะรับในสิ่งที่ดิฉันจะสอนต่อไป อีกอย่างหนึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ของครูแนะแนวโดยตรงที่จะขจัดความสับสนในใจของเด็กว่าไม่ว่าในเรื่องอะไร ดิฉันจึงขอให้หัวหน้าเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หัวหน้าเล่าว่า

          “พวกเรามีความรัก ความสามัคคีในกลุ่มมาก แต่ 'กมลวรรณ' เป็นคนที่ชอบทำผิดระเบียบอยู่เสมอ ครั้งล่าสุด กมลวรรณได้ไปซอยผมทรงผู้ชายมา ทั้ง ๆที่รู้ว่าผิดระเบียบ อาจารย์ผู้ปกครองได้เรียกไปพบ และภาคทัณฑ์ คุณครูก็ทราบ หลายคนในห้องเห็นว่ากมลวรรณทำให้ชื่อเสียงของห้องเสื่อมเสียอยู่บ่อย ครูอาจารย์คนไหนเข้ามาสอนเมื่อมีเรื่องจะต้องดุ ไม่ว่าเรื่องอะไร…จะต้องมีกมลวรรณรวมอยู่ด้วยเสมอ เมื่อเช้าคุณครูสิรินาถพูดถึงเรื่องการแต่งตัวให้ถูกระเบียบอีกละคะ กมลวรรณอีกนั่นแหละที่ถูกยกเป็นตัวอย่าง พวกเราจึงคุยกันว่า ทำไมเขาถึงมีนิสัยอย่างนี้

          ดิฉันนึกได้ทันทีว่า เด็กได้นำวิธีการนำ “ทำกลุ่มให้คำปรึกษา” (Group Discussion)  มาใช้ แต่ว่าไม่บังเกิดผล เพราะไม่มีใครฟังใคร ไม่มีบรรยากาศแห่งความพร้อม ต่างคนต่างแย่งกันพูด เพราะไม่มีผู้นำกลุ่ม…ดิฉันจึงหันหน้าไป กมลวรรณซึ่งนั่งหน้าตาแดงกล่ำด้วยผ่านการร้องไห้มาหลายรอบ และให้โอกาส “กมลวรรณมีอะไรจะพูดให้เพื่อน ฟังไหมคะ? กมลวรรณลุกเดินไปหน้าห้องทันที

          “เราต้องขอโทษเพื่อน ด้วยที่ต้องมาถูกอาจารย์ดุร่วมกับเรา  เธอพูดด้วยเสียงร้องไห้

"จริง แล้ว เราไม่มีเจตนาที่จะทำผิดระเบียบของโรงเรียนเลย เป็นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และเพราะความคิดไม่ถึงของเรามากกว่า ทุกคนก็ทราบว่า เราชอบตัดผมสั้น เอาผมทัดหู เพราะเรารำคาญวันศุกร์ก่อน เราไปตัดผมก็พี่โก้ พี่โก้บอกว่าผมข้าง น่ะมันพอง เราก็เชื่อพี่โก้ บอกให้ช่างเขาซอยให้ทันที เราไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ที่ใคร เห็นว่าเราทำผิดมากมาย กมลวรรณพูดด้วยเสียงตัดพ้อ รุจีรัตน์ยกมือขึ้นขอแสดงความคิดเห็นบ้าง ดิฉันยิ้มอยู่ในใจเด็กโรงเรียนนี้คุ้ยเคยกับการ “พูดออกมา” แต่ก็ยังต้องมีการพัฒนาไปอีก เพราะเขายังไม่สามารถจะทำได้ในกลุ่มใหญ่ที่ไม่มีโค๊ชอยู่และนี่คือ  "งานของครูแนะแนว !"

          “วรรณ…แต่ครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่วรรณทำผิดระเบียบนะ บ่อยครั้งที่มีอาจารย์มาต่อว่า .6 ไม่ทำตามระเบียบ โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นพี่ชั้นโตที่สุดในโรงเรียนที่ควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีแก่น้อง ก็มีวรรณร่วมอยู่ด้วยเสมอ จนอาจารย์หลายท่านบ่นว่าไม่อยากสอนห้องเราแล้ว พวกเราอยากทราบว่า วรรณคิดยังไงในเรื่องนี้  รุจีรัตน์ผู้มีท่าทางคงแก่เรียน และถูกเลี้ยงมาจากครอบครัวที่ค่อนข้างใส่ใจเรื่องระเบียบความเป็นอยู่ไม่น้อย ป้อนคำถามให้กมลวรรณอย่างเอาเรื่อง โดยมีเพื่อนทั้งห้องคอยฟังอยู่

          “เราพูดไม่ถูก เราสับสนไปหมดหลายครั้งเราตั้งใจจะทำดี ทำในสิ่งที่ถูกต้องแต่เหตุการณ์ก็กลับกลายเป็นตรงกันข้ามเราเสียใจ เสียงสะอื้นดังออกมา

          “เอาละ” ดิฉันรีบตัดบท เมื่อเห็นว่ากมลวรรณถูกรุกอย่างหนัก โดยที่เจ้าตัวยังไม่พร้อมที่จะอธิบายและเปิดเผยตัวเองในโอกาสเช่นนี้ 

"ในชั่วโมงก่อน เราคุยกันค้างถึงเรื่อง การยอมรับซึ่งกันและกัน ใช่ไหมคะ ? ครูอยากให้พวกเราแต่ละคนเอาตัวอย่างที่เกิดขึ้นนี้เข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งที่เราได้รับมาคนเราต่างจิตต่างใจ ต่างค่านิยม ต่างสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดู บางคนมีชีวิตราบเรียบสะดวกสบายไปเสียทุกอย่าง บางคนต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดโดยไม่มีโอกาสคิดถึงเรื่องอื่น บางคนเติบมาในครอบครัวที่มีแต่คนรักคนเข้าใจ บางคนตรงกันข้าม เขาไม่ได้รับการยอมรับแม้กระทั่งการยินยอมที่จะให้มีชีวิตอยู่ อย่างไรก็ตามมีความจริงอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ เราต้องมีส่วนเติมส่วนที่ขาดของกันและกันเสมอ ในห้อง . 6/4 นี้ แม้เพียง 30 คน แต่ก็ 30 พ่อแม่ 30 สิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน ครูถือว่าชีวิตในวัยนี้ เป็นชีวิตที่ฝึกหัดและเรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกันให้มีความสุข ยอมรับกันและกันโดยเฉพาะคนอ่อนแอและด้อยโอกาส ควรจะได้รับความเข้าใจและใส่ใจเป็นพิเศษ ทั้งห้องเงียบกริบ “ครูเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตการเจริญเติบโตของพวกเรา ผู้ที่อยากทำกลุ่ม (Group counseling) หัวหน้าครูขอรายชื่อนะคะ เพื่อจะได้จัดกลุ่ม จัดเวลาให้ ดิฉันสัมผัสได้ด้วยว่า บรรยากาศในห้องผ่อนคลาย และหลังจากนั้นอีกไม่เกิน 10 นาที ก็มีเสียงหัวเราะแทนเสียงทะเลาะที่เริ่มมาแต่ต้นชั่วโมง

          ดิฉันคิดว่าการที่จะย่อยทฤษฎีให้ลงมาในแง่ของการปฏิบัติ หรือตีความสิ่งที่เกิดขึ้นจริงให้สอดคล้องกับทฤษฎี เป็นสิ่งที่ควรแนะแนวจะต้องมีความ “ไว” ในการหยิบยกเอาสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ให้ความหมาย หาปรัชญาในสิ่งนั้นได้ทันที เพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดแรงจูงใจที่ถูกต้องในการก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางที่มั่นคง ดิฉันถือว่าเป็นโอกาสทองของครูแนะแนวที่จะฉวยโอกาสเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

 

          ก่อนที่จะมาถึงเวลานัดกับชนิดา ดิฉันได้เอาระเบียนสะสม ข้อมูลส่วนตัว รายงานการพบแต่ละครั้งมาอ่านดู เพื่อทบทวนความคิดของตัวเอง ชนิดา อายุ 17 ปี มีน้องชาย 1 คน อายุ 14 ปี เรียนอยู่ชั้น ม. 3 พ่อแม่แยกทางกัน พ่อไปแต่งงานใหม่ ชนิดาและน้องจึงอยู่กับแม่ แม่ของเธอเป็นนักธุรกิจมีบริษัทขายผ้าเป็นของตนเอง

          ….และแล้วชนิดาก็เดินทางมาถึงหน้าห้องแนะแนวที่ดิฉันเปิดประตูต้อนรับรออยู่

          “เข้ามาสิคะ ครูกำลังรอ แล้วเราก็ได้นั่งเผชิญหน้ากัน โดยที่ชนิดานั่งก้มหน้ามองลงต่ำ ดิฉันเชยคางเธอให้เงยขึ้น จ้องมองเข้าไปในดวงตาโศกคู่นั้น

          “ค่ะ” เธอรับคำ พร้อมกับเชิดหน้าขึ้นตามีแววประหลาด

          “หนูภูมิใจที่จะบอกครูว่า…หนูมีความรักค่ะ เรามีมิตรภาพที่ลึกซึ้งต่อกันมานานเพราะบ้านเราอยู่ใกล้กัน พี่วิชเป็นนักเรียนนายร้อยค่ะ หนูไม่ทราบว่าหนูรักเขาเพราะอะไร หรือตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่หนูรู้ว่าชีวิตหนูขาดเขาไม่ได้ พี่วิชเป็นเหมือนพ่อ พี่ และเพื่อนในเวลาเดียวกัน เขาเป็นคนสุขุม ใจดีมีเหตุผล หนูพูดได้ว่าหนูรับการถ่ายทอดชีวิตมาจากเขา สิ่งที่หนูมีและเป็นอยู่ หนูก็เลียนแบบมาจากพี่วิช พี่วิชไม่เคยบอกว่ารักหนูนะคะ แต่เราจะหาโอกาสที่จะพบกันและทำอะไรร่วมกันเสมอ เวลาที่เราอยู่ด้วยกันเป็นเวลาที่มีค่า และเป็นสิ่งที่เรากระหายหามากกว่าอย่างอื่น หนูเคยคิดว่าคุณพ่อคุณแม่อิจฉาหนู อิจฉาความสัมพันธ์ของเราคุณพ่อคุณแม่ไม่รักกันค่ะ ในที่สุดคุณพ่อก็ต้องแยกทางกับคุณแม่ไปมีคนอื่น และเราก็ไม่เคยติดต่อกันเลย"

"…คุณแม่หนูเป็นนักธุรกิจมีบริษัทขายผ้า คุณแม่ต้องติดต่อกับคนมากมาย จนไม่มีเวลาที่จะใส่ใจลูกว่าเป็นยังไง  หนูสังเกตว่าระยะนี้คุณแม่ไม่ค่อยกลับบ้านเลย อ้างว่าค้างที่บริษัทเพราะงานยุ่ง แต่หนูรู้ว่า คุณแม่กำลังจะมีแฟนใหม่ น้องชายหนูเรียนอยู่ . 3 โลกของเขาก็อยู่กับเพื่อน เล่นกีฬาอยู่จนค่ำมืด ดังนั้นบ้านที่หนูอยู่จึงมีเพียงหนู น้องชาย และคนรับใช้หนึ่งคน คุณแม่นั้นหนูเลิกห่วงได้ เราจะพบกันด้วยการ “ทิ้งโน๊ต” หรือเวลาที่หนูกำลังจะนอนแล้วเท่านั้นที่คุณแม่เข้ามาสั่ง และก็ออกไปโลกของหนูควรจะเหงาและว้าเหว่ แต่หนูมีความสุขมากนะคะ เพราะโลกของหนูมีพี่วิชอยู่ทุกหนทุกแห่ง"

          “นับว่าหนูโชคดี ที่สามารถหาความสมดุลในชีวิตได้นะคะ ดิฉันหยั่งเสียง

          “แต่เดี๋ยวนี้ คุณครูขา พี่วิช อยู่โรงพยาบาลอุบัติเหตุรถชนค่ะ หนูไม่มีใครแล้ว เสียงสะอื้นลอดออกมาอย่างช่วยไม่ได้ “หนูยังไม่ได้ไปเยี่ยม หนูกลัว หนูเข้าไปไม่ถึงพี่วิชมีญาติพี่น้องเยอะแยะที่คอยห้อมล้อมอยู่หนูเคยคิดว่าโลกนี้มีเราเพียงสองคน ความจริงแล้ว มันไม่ใช่ พอเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมา หนูรู้ว่าหนูไม่มีความสำคัญอะไรเลย หนูถูกลืม หนูไม่มีค่า พี่วิชไม่มีหนูก็อยู่ได้ หนูไม่มีประโยชน์ หนูช่วยอะไรพี่เขาไม่ได้เลยแม้กระทั่งการได้อยู่ใกล้  น้ำตาเริ่มไหลออกมาเป็นทาง “หนูรู้สึกเหมือนกับว่าถูกโยนลงมาจากที่สูง เคว้งคว้างและวาบหวิว วันที่หนูทราบว่าพี่เขาถูกรถชน ประสาทหนูไม่ยอมรับรู้อะไรเลย 2 วัน หนูไม่อยากเชื่อว่ามีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น หนูไม่ทราบว่าหนูจะระบายความรู้สึกอย่างนี้กับใคร หนูทำอะไรไม่ถูก เด็กสาวจบคำพูดอย่างยืดยาวลง แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่สะใจ เธอต้องการบอกให้ใคร ๆ รู้ว่าคนที่เธอรักเท่าชีวิต เดี๋ยวนี้เขาได้หายไป โดยที่เธอไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่เป็นอยู่

          “ครูคิดว่าพี่วิชคงดีใจที่หนูไปเยี่ยมเขาคงคิดถึงและอยากคุยกับหนูมาก คนไข้ต้องการกำลังใจเสมอ ดิฉันเสนอสิ่งง่าย ๆที่เธอควรจะทำ แต่ก็ไม่ได้ทำมาตั้งแต่ต้นเพราะความสับสนฟุ้งซ่าน

          “คุณครูว่าหนูไปเยี่ยมพี่เขาได้นะคะ? หนูอยากไปเห็นหน้าพี่เขาเท่านั้นเอง หนูจะไม่รบกวน หนูต้องการให้พี่เขาพักผ่อน  เด็กสาวแสดงความวิตกกังวล

          “ครูว่าหนูไปที่โรงพยาบาลได้นะคะ ถ้าเขาห้ามเยี่ยมก็จะมีคนบอกให้หนูรู้ หรือจะหนูจะพบคนไข้ได้ยังไงนานแค่ไหน จะมีคนแนะนำหนู หนูสบายได้นะคะ พรุ่งนี้วันเสาร์ หนูไปเยี่ยมได้นี่คะ? ถ้าหนูไปเยี่ยมแล้ว เป็นยังไง เรามาคุยกันได้อีก ระยะนี้ครูอยากพบหนูบ่อย เพื่อหนูจะได้มั่นใจว่านอกเหนือจากพี่วิชที่ให้เวลาหนูแล้ว ยังมีคนที่หวังดี และพร้อมที่จะรับฟังหนูอยู่เสมอ

          การรองรับอารมณ์วัยรุ่นได้อย่างทันท่วงที เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก แม้ว่าบางครั้งอาจเป็นแค่เรื่องการให้ข้อมูลและสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล หรือความมั่นใจ ก็พอเพียงที่จะทำให้เขาสามารถมีกำลังใจที่จะต่อสู้ชีวิตไปได้

          ชนิดาเดินหันหลังจากห้องแนะแนวไปแล้วด้วยความหวังว่าจะมีโอกาสมาระบายความรู้สึกกับครูแนะแนวได้อีก ดิฉันถอนหายใจด้วยความสุขใจที่ผ่านตลอดวันมาอย่างดี ขณะที่เตรียมเก็บของกลับบ้าน เพิ่งนึกออกว่า…เราควรประเมินผลของตัวเองด้วยว่า…ความไม่ปลอดโปร่งของเราที่เกิดขึ้นนั้นเล็กน้อยเหลือเกิน เมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการของคนอื่นที่รอรับความช่วยเหลืออยู่ หากหัวใจของครูแนะแนวมีแต่เรื่องของตัวเองอยู่เต็ม แล้วจะช่วยเหลือ บรรเทาใจคนอื่นได้อย่างไร ? ทำใจได้อย่างนี้ ก็มีความสุข

 

 
 
  Counter 203,491
 
 
© 2012 Thaiteenline. All Rights Reserved. หน้าหลัก | ความเป็นมา | กฎหมายเด็กและครอบครัว | วัยรุ่นอยากรู้ | บทความวัยรุ่น | ฮอทไลน์เคลื่อนที่ | ติดต่อเรา