Thaiteenline-logo
home about law teens article hotline contact
 
     
 

การดำเนินชีวิตของนักศึกษา(ใหม่)ในมหาวิทยาลัย

ชีวิตการเรียน  กับความรัก  ของนักศึกษา(ใหม่)

ชีวิตใหม่ในรั้วอุดมศึกษา

            ตลอดกว่าสามสิบปีที่ผ่านมานี้   ทีมนักจิตวิทยามูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ในฐานะนักวิชาชีพ  และเป็นหน่วยงานเอกชน (NGO)  ทำหน้าที่ด้านให้คำปรึกษาแนะนำ  ปัญหาชีวิต ปัญหา ครอบครัว  คู่สมรส  ความรัก  ปัญหาวัยรุ่น  ตลอดจนปัญหาด้านสุขภาพกาย  สุขภาพจิตของคนไทย  ทุกวัย  ทุกเพศ   ทีมนักจิตวิทยามูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ได้สังเกตุพบว่า  ปัญหาคู่สมรส  ครอบครัวที่มีข้อขัดแย้งกันตั้งแต่เริ่มต้น  จนถึงวันที่สมาชิกในครอบครัว  มีการแตกแยกหย่าร้างกันไปนั้น    ส่วนใหญ่ปัญหาเริ่มจากความสับสนขัดแย้งทางความคิดและทัศนคติ  ตั้งแต่การเริ่มต้นของชีวิตวัยรุ่นในระหว่าง ศึกษาเล่าเรียนตามสถาบันการศึกษาต่าง  ๆ  ทั่วประเทศไทย

ซึ่งปัจจุบัน  สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงทั้งภาครัฐและเอกชน  ยังคงกระจายไปยังเมืองใหญ่ทั่วประเทศเหมือนเดิม   จึงยังเป็นค่านิยมให้วัยรุ่นต่างจังหวัดมุ่งหน้าเข้ามาศึกษาในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่  ๆ  ที่สำคัญ ระบบการเข้าสู่มหาวิทยาลัยยังใช้ระบบเดิมคือ  ระบบสอบเอนทรานซ์  ทำให้วัยรุ่นหรือนักศึกษาต้องพลัดพรากจากครอบครัวจากบ้านและสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย  ไปอยู่ต่างถิ่นต่างที่  ทำให้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิต  และสุขภาพกายของวัยรุ่นหรือนักศึกษาใหม่กันมาก  เพราะรูปแบบการอบรมเลี้ยงดูในสังคมไทย  ยังมีลักษณะปกป้องและชี้นำทางความคิด  มากกว่าจะสอนให้ช่วยตัวเองและคิดเป็นด้วยตนเอง  การต้องจากครอบครัวไปใช้ชีวิตต่างบ้านต่างจังหวัด  และขาดการชี้นำจึงต้องอาศัยความกล้าในการคิดและเสี่ยงด้วยตนเอง  ผลที่ตามมาคือเมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัย  นักศึกษาจำนวนมากกลาย เป็นคนมี “คู่ครอง”  หรือมีภาระเกี่ยวกับเพศตรงข้ามต่อเนื่องไปทั้งที่อาจจะยังไม่มีงาน  ไม่มีรายได้ที่จะช่วยเหลือตัวเองหรือครอบครัวตามที่ถูกคาดหวังได้

ที่สำคัญคือ ปัจจุบันครอบครัวชนบทจำนวนมากมีความแตกแยกหรือพ่อแม่แยกกันอยู่เด็ก  ๆ  เติบโตมาเหมือนเด็กกำพร้าหรืออยู่กับปู่ย่าตายายตามลำพังอย่างโดดเดี่ยว  การต้องเดินทางมาศึกษาต่างถิ่นจึงมีผลกระทบต่อสภาพจิตและพฤติกรรมของวัยรุ่นรุ่นใหม่อย่างมาก

ปัญหาครอบครัว

ครอบครัวคืออะไร?

          ครอบครัวส่วนใหญ่ประกอบด้วย  พ่อแม่ลูก  และเครือญาติ  แต่ในปัจจุบัน  แต่ละครอบครัวอาจไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ครบอย่างที่เราคิดว่าควรจะเป็น  หรืออยากให้เป็น  เด็ก  ๆ  อาจต้องอยู่กับพ่อ  หรือกับแม่  หรือกับปู่ย่าหรือตายาย  หรือพี่ป้าน้าอาเท่านั้น  เนื่องจากสถานการณ์ในครอบครัวที่ทำให้ไม่สามารถอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาในที่เดียวได้  โดยเฉพาะสถานที่ที่เราเรียกว่า “บ้าน”   อันเป็นที่รวมอยู่ของคนในครอบครัวแต่ละครอบครัว  นั่นอาจจะเป็นเพียงกระต๊อบ  ห้องพักเล็ก   ๆ  แคบ  ๆที่พ่อแม่เช่าอยู่  หรือเป็นคอนโด  เป็นตึกแถว  เป็นทาวน์เฮ้าส์  หรือเป็นบ้านที่สะดวกสบายเล็กใหญ่ตามฐานะก็ได้  แต่ตราบใดที่สถานที่นั้นปลอดภัย  ประกอบด้วยบุคคลที่เราอยู่ร่วมด้วยแล้วมีความสุขตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ก็เรียกได้ว่าเป็น  “ครอบครัว”  เป็น “บ้านแห่งความสุข” และที่เรียกว่า “ครอบครัว” หรือ “บ้านแห่งความสุข”  ไม่ได้หมายความว่า  ทุกคนในบ้านในครอบครัวจะต้องมีความสุขอย่างเต็มเปี่ยมสมบูรณ์แบบเสมอไป      

            เพราะทุกครอบครัวมีปัญหามากบ้างน้อยบ้าง  เป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับชีวิตมนุษย์ที่ต้องมีทั้งสุขและทุกข์   โดยเฉพาะในปัจจุบัน ปัญหาครอบครัวส่วนใหญ่อยู่บนพื้นฐาน  ของปัญหาเศรษฐกิจ  การเมือง  และปัญหา “สื่อ”  ที่ไม่ช่วยให้พ่อแม่กับลูกสามารถเข้าใจ  หรือเดินไปด้วยกันอย่างสันติสุขได้  จึงทำให้เกิดปัญหาในครอบครัว  ชุมชน และสังคมสะสมเพิ่มขึ้นตามมา   และนับวันปัญหาภายในครอบครัวจะยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย  ๆ  ตราบใดที่ “สื่อ”  ตลอดจนรัฐบาลอันประกอบด้วยนักการเมืองทั้งหลาย  ขาดความใส่ใจสนใจที่จะสร้าง สรรค์รูปแบบของการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของคุณธรรมและจริยธรรม  เพื่อสนับสนุนให้เกิด   ”ครอบครัวสันติสุข” ต่อไปได้

                   ทั้งนี้  ความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่หรือผู้ใหญ่  มักจะมีรายละเอียดที่ลูก  ๆ  หรือเด็ก  ๆ  ยากจะเข้าใจ  การพยายามจะเข้าไปไกล่เกลี่ย  หรือเข้าข้างฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่  บางครั้งอาจจะทำให้เหตุการณ์ยุ่งยากมากขึ้น  หรือเป็นภาระทางจิตใจของลูก  ๆ เกินจะแบกรับ  เพราะฉะนั้น หากต้องการจะประคับประคองความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างพ่อแม่และลูก  ๆ  ก็คือ  ลูก  ๆ  ต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด  เช่นช่วยเหลือทำงานบ้าน  ดูแลสอนหนังสือน้อง ๆ  และตั้งใจเรียนให้ดีให้จบตามกำหนด  ไม่หนีความขัดแย้งออกไปสร้างปัญหานอกบ้านเพิ่มขึ้น  หรือร่ำร้องคร่ำครวญใช้ความขัดแย้งของพ่อแม่เป็นข้ออ้างในการไม่ทำหน้าที่ของลูก  ๆ  ที่สำคัญ  ให้มองหาความช่วยเหลือขอคำปรึกษาแนะนำจากนักวิชาชีพเช่น  นักสังคมสงเคราะห์  จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ในโรงพยาบาลหรือ อาจารย์ที่ปรึกษาในสถาบันทางการศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่    

ระบบการศึกษากับครอบครัว

               การศึกษาของมนุษย์ทุกคนเริ่มต้นจากครอบครัว  พ่อแม่คือครูคนแรกของเด็กทุกคน  แม้เมื่อเติบใหญ่ไปโรงเรียนแล้ว  พ่อแม่ก็ยังทำหน้าที่ช่วยเหลือดูแลอบรมสั่งสอน  เป็นครูที่บ้านเสมอมา  แต่เมื่อระบบการศึกษามีการพัฒนากว้างไกลออกไป ตามนโยบายของรัฐบาล  ของการพัฒนาประเทศบ้านเมือง  ลูก  ๆ  หรือเด็ก  ๆ  ของเรา กลับยิ่งต้องห่างบ้าน  ห่างครอบครัวออกไปเรื่อย  ๆ  โดยเฉพาะในกลุ่มครอบครัวต่างจังหวัด  ที่เด็ก  ๆ  ต้องแยกย้ายกันไปพักอาศัยต่างถิ่นต่างที่อยู่อาศัย  ต่างต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสถานที่  สิ่งแวดล้อม  กลุ่มเพื่อน  ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีต่างถิ่น   ต่างประเทศ    ส่งผลกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจร่างกาย  ตลอดจน   กระบวนการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษานั้น  ๆ

            ที่มากกว่านั้นคือ  ระบบการศึกษาและวิชาใหม่  ๆ กลายเป็นอุปสรรคที่พ่อแม่จะให้ความช่วยเหลือ “สั่งและสอน”  ลูก  ๆ  ผลที่ตามมาคือเด็ก  ๆ  จนถึงวัยรุ่นส่วนใหญ่ต้องเสียเงินเรียนพิเศษมากกว่าการเรียนรู้ที่โรงเรียน     เด็กจำนวนมากที่พ่อแม่สนับสนุนการเรียนพิเศษไม่ได้  จึงเหมือนถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง หรือไม่มีคุณภาพเพียงพอจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยปิดได้

                   อย่างไรก็ตาม  แม้นว่าการต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในทุกเรื่อง ทุกระดับจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้การศึกษาของเด็ก ๆ  แต่อิทธิพลจากปัญหาเศรษฐกิจ  การเมืองและเทคโนโลยี่ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของประชาชนคนไทยโดยรวม  กลายเป็นภาระและอุปสรรคของนักเรียนนักศึกษาในการก้าวไปให้ถึงเป้าหมาย   จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่  พ่อแม่ครูอาจารย์  จะต้องช่วยประคับประคอง  ส่งเสริมสนับสนุน และชี้นำหนทางที่สร้างสรรค์  ให้กับนักเรียนนักศึกษาผ่านทางปัญหาที่เยาวชนต้องเผชิญ  นั่นคือ

ปัญหานักศึกษา  กับความเหงา

            มนุษย์เป็นสัตว์เมือง  จึงต้องการอยู่เป็นหมู่เหล่า  เป็นกลุ่มเช่นการอยู่ในครอบครัว  แต่เมื่อต้องแยกตัวมาอยู่ต่างถิ่น  ต่างที่ตามลำพัง  หรือต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนแปลกหน้าไม่คุ้นเคย  ย่อมทำให้รู้สึกตัวเอง  แปลกแยกแตกต่างจากเพื่อนใหม่  หรือคนกลุ่มใหม่  การปรับตัวให้เข้ากับคนกลุ่มใหม่  เพื่อนใหม่  หรือเพื่อนต่างเพศ  อาจกลาย เป็นปัญหา  ขึ้นอยู่กับอุปนิสัย  และการอบรมสั่งสอนจากครอบครัวและโรงเรียนในถิ่นที่เดิม  ที่สำคัญคือ   ทัศนคติของนักศึกษาในการมองตนเอง  มองเพื่อน ๆ  และมองสิ่งแวดล้อมรอบ  ๆ  หรือทัศนคติในการมองโลกนั่นเอง

            คำถามแรกคือ  ทัศนคติคืออะไร?  เพราะเรามักจะพูดกันว่า  คนนั้นมีทัศนคติทางบวก คนนี้มีทัศนคติทางลบ  อะไรทำให้เกิดทัศนคติทางลบหรือทางบวก

            ทัศนคติหมายถึง  วิธีการคิด  พิจารณา มองเห็นและมีความเชื่อในแต่ละเรื่องแต่ละสิ่ง  ซึ่งทัศนคติเกิดจาก  การอบรมเลี้ยงในครอบครัว  พื้นฐานทางความคิดความเชื่อในครอบครัวเป็นอย่างไร  ลูก  ๆ  หรือเด็ก  ๆ  ก็จะได้รับการถ่ายทอดผ่านมาจากคำสั่งสอน  การอบรม และพฤติกรรมการแสดงออกของพ่อแม่และคนในครอบครัว  ต่อเมื่อได้รับการศึกษาเพิ่มเติม  ทำให้มีความสามารถแยกแยะถูกผิดเพิ่มมากขึ้น  มีข้อมูลความรู้มากขึ้น  ทำให้เกิดการกล่อมเกลาความคิดให้เปลี่ยนไปได้ไม่เหมือนเดิม  หรือหากเด็ก  ๆ  ผ่านพบประสบการณ์ชีวิตจริง  ยิ่งเป็นเครื่องสนับสนุนความเชื่อ  สนับสนุนข้อมูลในการดำเนินชีวิตให้ซับซ้อนมากขึ้น  หรือชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม  ทำให้ทัศนคติอาจเปลี่ยนไปจากเดิม

            และไม่ว่าจะเพราะ  พื้นฐานการเจริญเติบโตในครอบครัว  การศึกษา  และประสบการณ์ชีวิต  จะส่งผลต่อทัศนคติ  ความนึกคิดและความเชื่อมากน้อยแค่ไหน  สิ่งสำคัญที่มีอิทธิพลต่อ “ทัศนคติ”  มากที่สุด   กลับเป็นผลมาจากปฏิกิริยาของฮอร์โมนภายในร่างกายของคนแต่ละคนมากกว่าปัจจัยอื่นใด  เพราะฉะนั้น นักศึกษาต้อง

 1.  ทำความเข้าใจว่า  ความรู้สึกเหงา  เป็นเรื่องปกติสำหรับทุกคน  โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น  เมื่อร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน  สร้างความสับสนอ่อนไหวให้วัยรุ่น   ความเหงาจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเจริญเติบโตของมนุษย์  ความ รู้สึกเหงา  ช่วยให้เกิดจินตนาการที่สร้างสรรค์  โดยการสื่ออารมณ์เหงาออกมาเป็นกาพย์กลอน  หรือศิลปะต่าง  ๆ  เช่น เขียนบทพรรณนา  วาดรูปภาพ  แกะสลัก ฯลฯ  เป็นการเติมเต็มอารมณ์เหงา  โดยไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อความเหงา  แต่ใช้เวลาแห่งความเหงาให้เกิดประโยชน์  พูดง่าย ๆ  ก็คือ  หาอะไรที่ชอบทำเพื่อจะได้ไม่ว่าง  โดยเฉพาะที่ง่ายที่สุดคือ  “อ่านหนังสือ”  หนังสือเรียนหรือหนังสืออ่านเล่นก็ได้ เพื่อสะสมข้อมูล  และเพื่อก้าวเข้าใปอยู่ในโลกแห่งความฝันเป็นบางครั้งบางคราว 

 2.  ต้องระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ  “เทคโนโลยี่”  ที่ปัจจุบันก้าวไปไกลและอาจนำอันตรายมาสู่ผู้ที่ประมาทในหลายรูปแบบ  เช่นการใส่หูฟังพูดคุยระหว่างเดินข้ามถนนตามลำพัง  อาจนำไปสู่อุบัตเหตุ   แช๊ตกับคนแปลกหน้าผ่านมือถือ  ผ่านอินเตอร์เนท  การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวตามเฟสบุ๊ค ฯลฯ   การทำความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี่  จึงควรเป็นไปเพื่อหนทางที่สร้างสรรค์และสามารถควบคุมเทคโนโลยี่  ไม่ให้เป็นพิษภัยกับนักศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อม

 3.  การรักษาความใกล้ชิดกับครอบครัว  พ่อแม่พี่น้อง  เพื่อน  ๆ  ที่บ้าน  ด้วยการพูดคุย  ผ่านโทรศัพท์  ผ่านเนต  ผ่านทางจดหมาย หรือกลับบ้านให้บ่อยหรือเมื่อมีโอกาส

 4.  สมัครเป็นสมาชิก  หรือหากิจกรรมจิตอาสา   หรือเป็นสมาชิกชมรม  ออกกำลังกาย  เล่นกีฬา  เพื่อรักษาและพัฒนาสุขภาพกายและสุขภาพใจ

 5.  ยอมรับ  และทำความคุ้นเคยกับความเหงา  ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต  และทุกคนควรต้องมีเวลาให้ตนเอง  สำหรับ  “ความเหงา”  อยู่อย่างเหงา  ๆ  บ้าง เพื่อสัมผัสอารมณ์ตนเอง

 

ปัญหาการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่

          การต้องพลัดพรากจากบ้าน  จากพ่อแม่พี่น้องมาอยู่ต่างถิ่น  เป็นเรื่องน่ากลัว และน่ากังวลสำหรับทุกคน  โดยเฉพาะสำหรับนักศึกษา  วัยรุ่นที่ยังอ่อนต่อโลก  ใหม่ต่อสิ่งแวดล้อม  ไม่คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลง  หวาดระแวงไม่แน่ใจในการสร้างความสัมพันธ์  กับเพื่อนใหม่  กับคนที่รู้จักใหม่  ซึ่งความหวาดระแวงหวั่นไหวอาจจะนำไปสู่การเลือก  หรือการตัดสินใจที่เสี่ยงต่อความเสียหายในการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้นหากวัยรุ่น  จะยอมรับฟังคำแนะนำของผู้ใหญ่  เพื่อจะได้ก้าวเดินต่อไปด้วยความระมัดระวังอย่างกล้าหาญ ด้วยความหวัง  และอย่างมีความสุขในสิ่งแวดล้อมใหม่  ๆ  นั่นคือ การเรียนรู้ ศึกษา สนใจสิ่งแวดล้อมใหม่  ๆ  รอบ ๆ  บ้าง เช่น 1. การเดินทาง  ไม่ว่านักศึกษาจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพมหานคร  หรือเมืองเล็กใหญ่ในจังหวัดต่าง  ๆ  ปัญหาการเดินทางย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ  ในระยะแรก  ๆ  อาจต้องพึ่งพาเพื่อนที่อยู่หรือคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นนั้น  ๆ  เช่นคนที่อาศัยในกรุงเทพฯ  ย่อมคุ้นเคยกับสถานที่ในกรุงเทพฯมากกว่า  นักศึกษาที่มาจากต่างจังหวัด  การจะเดินทางไปไหน  อาจต้องใช้แผนที่  อาจต้องไปพร้อมกับเพื่อน ๆ ที่เป็นคนกรุงเทพฯ   หรือได้รับการแนะนำให้เข้าใจวิธีเดินทางที่ถูกต้อง ปลอดภัยสำหรับนักศึกษาใหม่  ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางโดยรถเมล์  รถไฟใต้ดิน  รถบีทีเอส  รถแท็กซี่  รถตู้  จนถึงรถมอร์เตอร์ไซด์  เป็นต้น

 2. ศึกษาแผนที่บริเวณรอบ  ๆ มหาวิทยาลัย ตลอดจนร้านอาหาร  ร้านขายอุปกรณ์การเรียน  การดำเนินชีวิตประจำวัน  ตลอดจนเวลาเปิดปิดการทำการของร้านต่าง  ๆ  ในถิ่นที่เราไม่คุ้นเคย เพื่อความสะดวกปลอดภัย  รวมไปถึงสถานที่สำหรับการท่องเที่ยวรอบ  ๆ 

 3. ที่สำคัญ  การทำความรู้จักกับ  บริการและกิจกรรมที่จัดตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างสัมพันธ์ให้กับนักศึกษาทุกคณะ  ตลอดจนห้องสมุด  ห้องให้คำปรึกษาแนะนำสำหรับนักศึกษาในวาระที่จำเป็น  หรือหน่วยงานบริการด้านสุขภาพ ที่นักศึกษาอาจต้องใช้บริการบ้าง  ที่สำคัญคือเป็นกิจกรรมบริการที่นักศึกษาสามารถอาสา สมัครเข้ารับการฝึกหรือช่วยเหลือชุมชนได้ต่อไป

 4. ที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ  นอกเหนือจากการให้เวลาใส่ใจในการเรียนการศึกษา  ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายในการเข้ามาในสถาบันแห่งนี้  ในเมืองใหม่หรือสิ่งแวดล้อมใหม่แห่งนี้  นักศึกษาจะต้องให้เวลาในการจัดการสิ่งแวดล้อมในห้องนอนในหอนอนแห่งใหม่  เพื่อให้เป็นสถานที่ที่สะอาด   รื่นรมย์มีความเป็นมิตร  เพื่อให้สุขภาพจิตนักศึกษาแจ่มใสมีกำลังใจในการศึกษาเล่าเรียน  ความสุขในสิ่งแวดล้อมใหม่เกิดได้จากความขยัน  อดทน  ความพยายาม  และความใส่ใจสนใจในสิ่งแวดล้อมรอบ  ๆ  ตัวเริ่มจากในห้องนอนของนักศึกษาเอง  ให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัยมีความสุขได้ในช่วงเวลาที่ต้องห่างไกลบ้าน  จากวันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่นักศึกษา  ต้องจากสถาบันเพื่อกลับบ้านอีกครั้งหนึ่ง   ฯลฯ

เพื่อนใหม่  คนใหม่  หน้าใหม่

1.  นักศึกษาต้อง ตั้งสติให้ดี  พ่อแม่ส่งมาเรียนหนังสือ  ไม่ได้ให้มาหาคู่หาแฟนนะ จำไว้!

2.  หากปิ้งใครสักคนหนึ่งจริง  ๆ  จำไว้  ทำใจให้เป็นเพื่อนไปก่อนให้ได้  ไม่เช่นนั้นจะยุ่งกันไปทั่ว เพราะต่างฝ่ายอาจอยาก ครอบครอง  หรือควบคุม หรือเรียกร้องความใกล้ชิดจากอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้มากที่สุด  ซึ่งมีสาเหตุจากวุฒิภาวะของนักศึกษาขณะนี้ยังไม่มีความเป็นเด็กอยู่มาก

3.  อย่ารักเผื่อเลือก  หรือเก็บไว้เป็นตัวสำรอง  การต้องการเลิกกับคนที่กำลังคบอยู่  แต่ยังไม่ยากเลิก  เพราะต้องรอหาคนใหม่ให้ได้ก่อนจึงจะเลิกกับคนปัจจุบัน หรือคบไว้เผื่อเลือกพร้อมกันสองคน  ไม่ดีนะ!  จะคบหาใครก็คบกันทีละคน  เลิกให้เด็ดขาดกันไปค่อยคบคนใหม่  ให้เกียรติตนเองไม่สร้างความวุ่นวาย  ก็อย่างที่บอกแหละนะ  ไม่ต้องเลือกหรอก  คบเป็นเพื่อนกันไปก่อนดีกว่า

4.  อย่าเบียดเบียน  เอาเปรียบกันและกันเพียงเพราะ เขา/เธอเป็นแฟนเรา  ก็เลยอยากได้โน่นได้นี่  เล็กใหญ่อยากได้หมด  ทำให้พ่อแม่ต้องอับอายเสียเกียรติเพราะ  “ลูกอีช่างขอ!”  อย่าทำ  อย่าเป็น  และอย่าเอา!

5.  ยังเป็นนักศึกษา หาเงินเองยังไม่ได้  เอาตัวเองยังไม่รอด  อย่าอวดร่ำอวดรวย  อวดหน้าอวดเอว  อยากเป็น/อยากมีเสี่ยเล็กเสี่ยใหญ่ไว้จ่ายแทน  จนลืมเกียรติ  ลืมให้เกียรติกันและกัน  ทำตัวเป็นคน  “ราคาถูก”  หรือชอบซื้อของถูก  อย่าทำ!

6.  นักศึกษาคบหากัน  ต้องจริงใจ  ไม่ต้องจริงจังเพราะยังมีคนอีกมากมาย  รอเราอยู่วันข้างหน้า  ต้องให้โอกาสกันและกัน   ไม่ผูกมัดกันและกันจนอึดอัดใจ

7.  จงคบหา  และทนกับความเป็นเพื่อนไปให้รอดก่อน  ค่อยเปลี่ยนเป็นคบกันอย่างแฟน

8.  ชีวิตนี้เป็นของเรา  จริง!  ตราบที่ยังมีโอกาส  ยังไม่ผูกมัด  เลือกคนที่ “ใช่” ให้มากที่สุด

9.  เป็นเพียงคน  ถูกใจ  โดนใจ  คนที่เราอยากรัก  อยากใคร่  ยังไม่ต้อง   “ฝากใจ”  “ฝากกาย”    “ฝากชีวิต”  เพราะใจก็ของเรา กายก็ของเรา   ชีวิตก็เป็นของเรา ทุกอย่างอยู่ที่การตัดสินใจ  และกระทำของเรา  ทำและเลือกทำให้ดี  และที่ดีที่สุด  เปลือยใจได้  แต่เปลือยกายคงไม่ดี!

10.  ก็มีไม่น้อย  ที่ความรักเริ่มต้นเมื่อปีที่หนึ่ง  ณ  ที่แห่งนี้ที่พบรัก  และรอดผ่านปีสี่ไปได้  แต่ส่วนใหญ่  ไปไม่รอดถึงปีสี่  เป็นเรื่องปกติ  เพราะใจคนหมุนเวียนเปลี่ยนไปได้ทุกวัน  ที่สำคัญ  การเปลี่ยนแปลงคือการเจริญเติบโตของชีวิต  ไม่ใช่ความผิดที่ใจคนจะเปลี่ยนไป  ต้อง “ทำใจ”  เตรียมไว้ด้วยจะได้ไม่เสียใจมาก

11.  หากความรัก  เดินมาสุดทางสำหรับ เขา/เธอ   ไม่ต้องเสียหน้า  ไม่ต้องอับอาย  เรียกว่าสอบผ่านความรักขั้นแรกไปได้  จำไว้ที่ว่า  “อกหักดีกว่ารักไม่เป็น”  พิสูจน์กันมาแล้ว!

12.  ประสบการณ์คือครู  ความรักที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ  ไม่เป็นไร  ปัดกวาดห้องหัวใจให้ว่างพอสำหรับคนใหม่ได้เข้ามาเยี่ยมเยือน  อย่าลืมฟังเสียงเคาะประตูให้ดี!

13.  “รักซ้อน ซ่อนรัก“  อาจทำให้หนักใจ  อย่าปล่อยให้คาราคาซัง  หาที่ปรึกษาหัวใจ  จะได้วางลงได้ไม่ต้องทนทรมานใจ

14.  น้ำตาคือเพื่อนที่ดีที่สุด  และในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ไม่ต้องซื้อ  นอกจากน้ำตา  เพราะฉะนั้น  เสียใจ ทุกข์ใจ คับแค้นใจ  เจ็บใจ  หรือดีใจ  อยากร้องไห้ก็จงร้องไห้ไป  ไม่ต้องอายใคร  น้ำตาช่วยให้คลายเครียด  สบายใจและช่วยล้างตาไปในตัว!

15. เมื่อฮอร์โมนส่งผลให้เกิดภาวะความเครียดทางเพศ  หญิงชายใกล้ชิดกันเกิดปฏิกิริยาขั้วบวกขั้วลบได้ง่าย  ต้องเรียนรู้ในการป้องกันไม่ให้เกิดไฟช๊อต  อย่าอยู่ใกล้ชิดกันตามลำพัง  พยายามออกกำลังกายให้ความเครียดระบายออก หรือบางครั้งก็เข้าห้องช่วยตัวเองไปตามลำพัง  ไม่เป็นความผิด!

16.  สมัยนี้อย่าพูดว่า  “ลูกชายไม่เสียหาย  เสียหายแน่นอน คือเสียเกียรติเสียศักดิ์ศรีของความเป็นลูกผู้ชายในการไปเอาเปรียบทางเพศ  อาจทำให้ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ได้  โดยฝ่ายชายไม่พร้อมจะรับผิดชอบเลี้ยงดูบุตรต่อไป  ทั้งฝ่ายหญิงอาจต้องเสีย อนาคต    เสียโอกาสได้”    เรียกว่าเสียหายทั้งผู้หญิงและผู้ชายเพียงเพราะอารมณ์รักอารมณ์ใคร่ชั่ววูบ  ต้องระวัง  อย่าได้เกินเลย!

17.  ต้องจดจำไว้เสมอว่า  “เซ็กซ์คือความพร้อม  คือความรับผิดขอบ”  หากฝ่ายชายไม่พร้อมจะรับผิดชอบ  เริ่มจากการต้องใช้ถุงยาง (ให้เป็น)ในการมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง  หากเขาไม่ใช้  ใช้ไม่เป็น  ไม่พร้อมจะใช้  ฝ่ายหญิงต้องปฏิเสธที่จะมีเพศสัมพันธ์ด้วย

18.  ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย  ต้องเรียนรู้ในการที่จะปฏิเสธ  ในทุกเรื่องทุกอย่างที่เราไม่เห็นด้วย  โดยเฉพาะการปฏิเสธในเรื่องเพศสัมพันธ์  สำหรับฝ่ายชายที่เคยพูดว่า  หญิงมาหยิบยื่นให้ แล้วไม่เอาจะเสียเชิงชาย  ก็เพราะกลัวจะเสียเชิงชาย  ลูกผู้ชายมากมายต้องนอนบนเชิงตะกอนก่อนถึงวัยอันควรด้วยโรคเอดส์  ก็ให้เลือกเอา  จะยอมเสียเชิงชาย  แล้วได้มีชีวิตอยู่นาน  ๆ  หรือจะชิงขึ้นเชิงตะกอนก่อนก็ได้

 

            เช่นกัน  เป็นผู้หญิงต้องรู้จักเพิ่ม “อำนาจการต่อรองทางเพศ”  ให้ตนเองไม่ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรมในมือของฝ่ายชาย   ไม่ว่าฝ่ายชายจะชอบหรือไม่  แต่หากเขาไม่ ป้องกันผู้หญิงจากการตั้งครรภ์ไม่พึ่งประสงค์  จากการติดโรคเอดส์และกามโรค ต่าง  ๆ  เราต้องปฏิเสธที่จะมีเพศสัมพันธ์ด้วย  ฝ่ายหญิงต้องเป็นผู้กำหนดว่า จะมีเซ็กซ์หรือไม่  ถ้าเขาไม่พร้อม เราไม่พร้อม  ก็ต้องไม่มีเซ็กซ์  เพราะเซ็กซ์เป็นเรื่องของความพร้อม  ความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย  ที่จะต้องมีความพร้อมเหมือน  ๆ  กัน  ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต้องมี!

           เซ็กซ์!

   จริงอยู่  ความต้องการทางเพศเป็นเรื่องทางธรรมชาติ  เกิดขึ้นพร้อม  ๆ  กับการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกาย  อิทธิพลของฮอร์โมนอาจทำให้วัยรุ่นมากมายไม่สามารถควบคุมตัวเองได้   การป้องกันตนเอง  ไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออารมณ์ทางเพศของตนเอง  หรือเหยื่อทางเพศของเพศชาย  แม้ว่าจะเป็น  คนรัก  เป็นเพื่อน  หรือเป็นญาติคุ้นเคย    จึงเป็นเรื่องจำเป็นและต้องฝึกฝนจดจำไว้เตือนสติตัวเอง  นั่นคือ

1.  อย่าอยู่ตามลำพังกับชายใดในที่ลับตา  หรือที่รโหฐาน  หรือที่เปลี่ยว  เพียงเพราะเราเชื่อใจ  ไว้ใจ  และมั่นใจว่าเขาจะไม่ทำอะไรเรา  หรือเพียงเพราะเขาเป็นเพื่อน เป็นคนที่เราไว้ใจ  หรือแน่ใจว่า  เราจะป้องกันตนเองได้ถ้าเขาจะลวนลาม  เพราะที่ผ่านมา  ในโลกปัจจุบัน  ยังไม่เคยมีใครรอด  เพราะฉะนั้น  อย่าเปิดโอกาส อย่าเสี่ยง!

2.  หากรัก  เชื่อใจ  ใกล้ชิดกันมาก  ๆ  เกรงอารมณ์จะพาไป  หรืออยากมีเซ็กซ์กัน  ต้องแน่ใจว่ายอมรับได้  หากอีกฝ่ายเปลี่ยนใจไปภายหลัง  หากคนหนึ่งคนใดรับไม่ได้กับการถูกขอเลิกหรือถูกตีจาก   แสดงว่ายังไม่พร้อมจะมีเซ็กซ์  เพราะฉะนั้น  อย่าเพิ่งมีเซ็กซ์   รอไปก่อน!

3.  หากห้ามใจไม่ได้  อยากลองอยากรู้  ก็ต้องให้แน่ใจว่า  ฝ่ายชายใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์  และใช้ได้อย่างถูกต้องเพื่อความปลอดภัยจริง  ๆ

4.  ทั้งหญิงและชายต้องรักตัวเองให้มาก  อย่าไปอยากได้ของฟรีจากใคร  หรือยัดเยียดตัวเองให้กับใครฟรี  ๆ   เพราะทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย  ไม่ต้องเสียดายของฟรี  เสียดายตัวเองและอนาคตจะดีกว่า

5.  เซ็กซ์เป็นเรื่อง  “ตบมือข้างเดียวไม่ดังก็จริง!”  แต่หากถูกขืนใจ  ถูกข่มขืนบังคับ  โดยเฉพาะฝ่ายหญิง   ต้องกล้าที่จะลุกขึ้นมาปกป้องและต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของตนเอง  เริ่มจาก  ปรึกษาผู้รู้หรือผู้ใหญ่ผู้ปกครอง   เก็บรักษาหลักฐานในที่เกิดเหตุไว้  เช่นเสื้อผ้า ทั้งชั้นในและชั้นนอกที่ใส่ในวันเกิดเหตุ  และควรแจ้งความสถานีตำรวจใกล้บ้าน  เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดเยียวยา  และการดำเนินการทางกฎหมายโดยเร็ว

6.  ความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายวัยรุ่น  บนพื้นฐานของความแปรปรวนทางฮอร์โมน อาจนำไปสู่ความรุนแรง  ทั้งโดยไม่ตั้งใจและโดยเจตนา   เช่นการทำร้ายทุบตีทางร่างกาย  หรือการใช้วาจาส่อเสียดดูถูก  ข่มขู่ เหยียดหยาม ให้เสียใจและอับอาย  ไม่ใช่เรื่องปกติที่ยอมรับได้  คู่กรณีจะต้องแสวงหาความช่วยเหลือจากนักวิชาชีพ หรือ  ปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษา  ปรึกษาบอกเล่าให้พ่อแม่และเพื่อน  ๆ  รับรู้  เพราะความรุนแรงเป็นเรื่องของทุก  ๆ  คนในการร่วมมือกันป้องกันและแก้ไข

 

 
 
  Counter 203,647
 
 
© 2012 Thaiteenline. All Rights Reserved. หน้าหลัก | ความเป็นมา | กฎหมายเด็กและครอบครัว | วัยรุ่นอยากรู้ | บทความวัยรุ่น | ฮอทไลน์เคลื่อนที่ | ติดต่อเรา