Thaiteenline-logo
home about law teens article hotline contact
 
     
 

พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงาน

พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงาน

 

                ในชั้นเรียนระดับประถม   เด็กหญิงร่างอ้วนกลมผูกหางม้าน่าตาหน้ารักวิ่งหน้าตั้งมาฟ้องครู       "คุณครูขา. นายนกเขามารังแกหนูค่ะ!"  แม่หนูจีบปากจีบคอพูดพร้อมกับทำตาค้อนควักปะหลับปะเหลือกไปที่เด็กชายนกที่แอบแลบลิ้นอยู่ในห้อง

“เขาชอบดึงหางม้าหนูแรง ๆ ค่ะ...มันเจ็บนะคะคุณครู” แม่หนูตอบคำถามครูอย่างตั้งอกตั้งใจ  เกือบทุกคนคงเคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวแบบนี้มาตั้งแต่เด็กหรืออาจประสบด้วยตัวเอง เป็นความทรงจำที่สะท้อนให้เห็นรูปแบบของความเป็นเด็กที่อาจติดตามมาเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ก็ได้ 

ครูที่เข้าใจจิตวิทยาเด็กจะคุยกับแม่หนูต่อไปว่า "หนูคิดว่า นายนกเขาชอบดึงผมของหนูแรง  ๆ   เพราะอะไรคะ"  "...เขาคงไม่ชอบหนูมั้งคะ ถึงชอบรังแกหนู" แม่หนูตอบอย่างไม่แน่ใจนักแต่เป็นความคิดของคนสมองเล็ก

 

               "ตรงกันข้ามเลยนะคะ  นี่แสดงว่านายนกเขาชอบหนู เขาอยากเล่นกับหนูแต่เขาพูดหรือแสดงความรู้สึกไม่เป็นถึงได้ทำอย่างนี้  เอาอย่างนี้ดีไหม  หนูอยากให้ครูเรียกนายนกมาดุใช่ไหม? ครูจะเรียกเขามาคุยด้วยนะ คราวต่อไปหนูเจอะเขา หนูต้องยิ้มให้เขาหรือพูดกับเขาดี  ๆ  ถ้าเขายังดึงอีก หนูก็บอกเขาไปเลยว่า อย่าดึง หนูเจ็บพูดดี ๆ ก็ได้ เอาไหม...จะลองดูไหม?”  

                 

                 ครูอธิบายตกลงกับแม่หนูแล้ว  จึงเรียกเด็กชายนกมาคุยและเมื่อถามเด็กชายนกว่าทำไมถึงชอบดึงเฉพาะผมหางม้าของเด็กหญิงคนนี้ ทีคนอื่นทำไมไม่ทำ  แน่นอนเลยที่นายนกต้องสารภาพหรือแสดงท่าให้รู้ว่า  เขาสนใจเด็กหญิงน่ารักคนนี้เป็นพิเศษ  ครูก็ควรสอนเขาต่อไปให้แสดงท่าเรียบร้อย  เห็นแม่หนูก็เข้าไปทักทาย ช่วยหิ้วกระเป๋านักเรียนให้หรือคอยเอาใจบ้าง

                 

                  ต่อไปเราอาจเห็นเด็กทั้งสองคุยกันกระจุ๋งกระจิ๋งก็ได้  และอาจเป็นจุดนี้เองที่พ่อแม่ผู้ปกครองกลัวและคาดคิดไปล่วงหน้าว่าจะกลายเป็นเรื่องจริงเรื่องจังเป็นความเสียหายในภายหน้า   ครูมากมายที่ไม่เข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของเด็ก จึงมักเรียกเด็กชายมาตีมาลงโทษเพื่อความหลาบจำ มากกว่าจะช่วยทำให้เด็กเข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง

               

                    เช่นกัน...วันเวลาที่ผ่านไป เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก  เมื่อเติบใหญ่ในที่ที่เราทำงานร่วมกับคนมาก ๆ ในสำนักงานกับเพื่อนร่วมงาน  เหตุการณ์ในทำนองนี้ยังมีให้เห็นอยู่รอบ ๆ และหลายครั้งอาจเกิดขึ้นกับตัวเราเอง "ทำไมนะ...ใคร ๆ จึงชอบจับผิดฉัน ชอบหาเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ กับฉันเขาไม่ชอบฉันหรือไง? ฉันทำอะไรไม่ดีตรงไหน?”                    

 

ถ้าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับคุณ  อย่าเพิ่งตกใจ  กังวลใจ ทุกข์ใจหรือปล่อยให้ตัวเองตกเป็นทาสของความโกรธ  เกลียด  อาฆาตแค้น หรือแสดงอาการโต้ตอบใด ๆ ขอแนะนำให้หาเวลาเงียบ  ๆ  ไตร่ตรองมองทุกอย่างด้วยความเข้าใจ โดยการดึงตัวเองออกมาข้างนอกแล้วมองย้อนกลับไปข้างใน

         

ลองนึกเปรียบเทียบภาพความเป็นไปในสำนักงานกับภาพห้องเรียนสมัยที่เป็นนักเรียน   จำไว้ว่าความคับคั่งทำให้คนกระทบกระทั่งกันได้ หรือที่แคบแต่คนตัวใหญ่  ๆ สำคัญ ๆ (หรือคิดไปเองว่าตัวเองใหญ่ตัวเองสำคัญ หรือทุกคนพากันคิดว่าตัวใหญ่และมีความสำคัญ) มาอยู่รวมกัน ย่อมเบียดเสียดกระทบกระทั่งกันมากกว่าปกติเป็นธรรมดา

        

ขนาดในห้องเรียนเป็นนักเรียน   เพื่อนแต่ละคนต่างคนต่างนิสัยต่างที่มาต่างบุคลิกท่าทาง  ให้รักใคร่ใกล้ชิดกันขนาดไหนยังมีเรื่องกระทบกระทั่งแข่งขันกันเรียน แข่งกันทำคะแนนโดยไม่มีรางวัล แต่ในหน้าที่มีเงินเดือนมีตำแหน่ง  มีความก้าวหน้าเป็นเครื่องล่อใจโดยเฉพาะตำแหน่งเก้าอี้ใหญ่  ๆ  ย่อมมีน้อย โอกาสที่จะมีการแก่งแย่งแข่งขันย่อมมีมากกว่าในห้องเรียนเป็นของธรรมดา   ถ้ามองเห็นตรงนี้ชัดเราย่อมทำใจได้ไปหนึ่งขั้น

        

หันมาพิจารณาตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง  ถ้าตัวเรามีคุณสมบัติพร้อม  มีความสามารถมีความชำนาญเพียงพอ เราอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ใครจะมาว่าเราไม่ได้  ฉะนั้นใครจะว่ากระทบกระเทียบก็ไม่ควรสนใจหรือไปรับเรื่องนี้มาให้รำคาญใจ โดยเฉพาะถ้าเรามีความรับผิดชอบตามหน้าที่ไม่มีข้อบกพร่อง  ก็ต้องพอใจตนเองตามสถานภาพ  หากเรามีคุณสมบัติพิเศษและความพร้อมที่จะเข้าแข่งขันสูงตำแหน่ง  ๆ หรือการเลื่อนขั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาทำได้

         

หากมองแล้วตัวเรามีความเด่นเป็นพิเศษ     ที่ใครอาจมองด้วยความสนใจ ทึ่ง  หมั่นไส้ หรืออิจฉา หรือมีอะไรที่ดูทำให้เราไม่เหมือนใคร เช่น เราเป็นที่โปรดปรานของหัวหน้า  เราสวยน่ารักกว่าใคร  ๆ หรือเราเป็นคนไม่ให้ความสนใจกับใคร? นี่เป็นคุณลักษณะทางบวกที่อาจทำให้ไม่เป็นที่พอใจของคนรอบข้าง เพราะเข้าตำราสุภาษิตไทยที่ว่า "ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน"

         

ซึ่งเราจะต้องกลับมาพิจารณาเป็นข้อ ๆ การที่เราเป็นคนโปรดใกล้ชิดไปไหนมาไหนกับหัวหน้าหรือเจ้านาย    ซึ่งจะโดยตั้งใจหรือไม่เจตนา แต่อาจทำให้เพื่อนร่วมงานเกิดความไม่มั่นใจว่า  หัวหน้าจะรักษาความยุติธรรมเอาไว้ได้  บางทีเขาอาจไม่ทันคิดว่า หัวหน้าก็ต้องการเพื่อนที่จะพูดจะรู้ใจด้วยเช่นกัน โดยไม่มีเรื่องงานเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานหนึ่งงานใด 

         

แต่ในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่คล้ายถูกคุกคาม เขาจึงเกิดปฏิกิริยาต่อต้านต่อสู้เพื่อปกป้องตนเองกลายเป็นการแสดงความก้าวร้าว ทำเป็นเฉยหรือต่อต้านอย่างเงียบ  ๆ ก็ได้ เราจะต้องพิจารณาดูเองว่าขอบข่ายของเรามีแค่ไหน และเราได้อาศัยบารมีหัวหน้าทำอะไรที่เป็นผลร้ายกับคนอื่น  ๆ  หรือไม่

         

ที่สำคัญ เราควรหลีกเลี่ยงที่จะเสนอแนะและสร้างอิทธิพลเหนือการตัดสินใจของหัวหน้า เพราะใคร ๆ ก็ต้องมองอย่างแน่นอน หรือในกรณีที่เราแสดงทำไม่ใส่ใจไม่สนใจใคร ๆ  คล้ายกับเราเหนือกว่าเขาย่อมสร้างความเกลียดชังกับคนรอบ  ๆ ทั้งนี้จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม  โดยเฉพาะถ้าเราสนิทกับหัวหน้า  ทุกคนจะต้องสรุปว่า…เป็นเพราะหัวหน้าให้ท้ายเป็นผลร้ายต่อภาพพจน์ของหัวหน้าเราจึงควรต้องระมัดระวังสำรวมตนให้มากหรือถ้าเป็นเฉพาะของตัวเราเองที่อาจเป็นความภาคภูมิใจส่วนตัว   ท่าทางที่แสดงความมั่นใจตนเอง ซึ่งความจริงเป็นเรื่องดีเหมาะสมแต่ต้องดูคนรอบ  ๆ ตัวเองด้วยว่าเขามาจากสิ่งแวดล้อมแบบไหน เขาพอจะรับได้หรือเปล่า

         

ถ้าเป็นแบบสังคมราชการไทยระดับกลาง เขาคงไม่ชอบแน่  เราก็ต้องปรับตัวให้ดูนิ่มนวลสุภาพลงบ้าง  ต้องนึกว่าท่าของเรา เขาอาจรู้สึกเกรงขามแต่คนเราเกลียดความรู้สึกนี้  จึงเป็นปฏิกิริยาต่อต้านที่จะเอาชนะความรู้สึกของเขาเอง โดยการแสดงออกเป็นเชิงก้าวร้าวข่มคนอื่นอีกที เพื่อให้ความรู้สึกตัวเองดีขึ้น  การเรียนรู้ที่จะเข้าใจตัวเอง และเข้าใจผู้อื่นจึงเป็นเรื่องสำคัญในการใช้ชีวิตร่วมกันท่ามกลางคนหมู่มาก

 

                เราต้องมีความเข้าใจ ให้อภัย ไม่ถือสา และปรับทีท่าให้นุ่มนวลอ่อนโยนยิ้มแย้มทักทายปราศรัยกับคนรอบข้าง ให้ความสำคัญกับเขาอย่างทั่วถึง เป็นการสร้างมิตรไมตรีเพื่อลดท่าทีการเป็นศัตรูของเขาลง   ความจริงคนเรารู้ก็ทั้งรู้ว่า  เขาไม่ได้ทำอะไรให้  แต่พอเห็นท่าก็เกลียดเสียแล้ว หรือตัวเราเองมีปมด้อยต้องการปกปิดบางอย่าง จึงแสดงท่าข่มคนอื่นมากเกินไปกลายเป็นการสร้างศัตรู เพราะฉะนั้นจะวางตัว  จะทำตัวให้อยู่ที่ไหนกับใคร ต้องใช้สติตริตรองให้รอบคอบ จะทำอะไรก็ทำแต่พองาม  จะแสดงทีท่าว่าเป็นเพื่อนใครก็ไม่มาก จะกลายเป็นการประจบประแจงหรือไม่ น้อยไปจนกลายเป็นการรังเกียจเขา หมั่นยิ้มให้มาก ๆ  ฝึกให้เป็นคนสนใจในคนอื่นบ้างในทุกระดับ

         

ถึงกระนั้นก็ดี มีผู้คนมากมายที่ว่ามั่นใจว่า ทั้งสวย  ทั้งดี  ทั้งเก่ง  ทั้งพยายามทำดีมีไมตรีกับคนรอบข้างแล้ว เขาก็ยังชอบแกล้ง  ชอบกระทบกระแทกแดกดันทั้งวาจาและท่าทาง ยังหาเรื่องสร้างปัญหาไม่หยุดหย่อนจนเราเองอ่อนใจ   มองไปรอบ   ๆ   แล้วลองเปรียบเทียบพฤติกรรมในห้องเรียน    สมัยเด็ก   ๆ   ถึงแม้วันเวลาจะผ่านไปนานแล้ว  บางทีคนเหล่านี้วุฒิภาวะทางอารมณ์ยังไม่โตไปตามวัยก็ได้  ก็ต้องทำใจให้อภัยเสีย  ถ้าจำเป็นต้องทำงานกันต่อไป หรือไม่มีทางเลือกดีกว่านี้ บางที่เราอาจมาอยู่ผิดที่ก็ได้

                

สุภาษิตฝรั่งบทหนึ่งเขาใช้นำมาใช้ปลอบใจกัน  คือ "หมาฝรั่งมักจะถูกกัดมากกว่าหมาวัด!" ฝรั่งไม่ถือสาการเปรียบกับสุนัข เพราะสุนัขเป็นสัตว์ซื่อสัตย์ เป็นเพื่อนมนุษย์ได้ความหมายก็คือ   เพราะหมาฝรั่งมันน่ารักกว่าหมาวัดที่ถูกทิ้งขว้าง ใครเห็นก็อดเขม่นเข่นเขี้ยวไม่ได้   “ฉะนั้นการที่เขารังแกข่มเหงเรา ก็เพราะเราน่ารักน่าหมั่นไส้เท่านั้นเอง ทำใจเสียเถอะ!"

 

 
 
  Counter 203,789
 
 
© 2012 Thaiteenline. All Rights Reserved. หน้าหลัก | ความเป็นมา | กฎหมายเด็กและครอบครัว | วัยรุ่นอยากรู้ | บทความวัยรุ่น | ฮอทไลน์เคลื่อนที่ | ติดต่อเรา