Thaiteenline-logo
home about law teens article hotline contact
 
     
 

การให้เวลากับเพื่อน

การให้เวลากับเพื่อน

 

                “ ในวันหนึ่งซึ่งเงียบเหงาและเดียวดาย     ในวันหนึ่งซึ่งคุณอยากมีเพื่อนอยู่ใกล้ ๆ

                  ในวันหนึ่งซึ่งคุณต้องการใครสักคนคอยปลอบใจ       ในวันหนึ่งซึ่งเปลวไฟใกล้ดับลง......"

              

ปัญหาในสังคมทุกวันนี้เกิดขึ้นเพราะไม่มีใครมีเวลาให้กับใคร เราต่างเร่งรีบที่จะทำงานแข่งขันแก่งแย่งกัน  โดยเฉพาะผู้คนในสังคมเมือง เวลาเป็นของมีค่า เราพยายามจะใช้เวลาให้เกิดประโยชน์มากที่สุดในการดำเนินชีวิต  ทุกคนต้องการเวลาแต่ไม่มีใครมีเวลาให้ใคร และในการจะเป็นเพื่อนที่ดีได้นั้นจำเป็นต้องให้เวลาแก่กันและกันบ้าง         

ลำดับขั้นตอนแรกของการให้ความเป็นเพื่อนก็คือ การสละเวลาเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคลที่ต้องการ ศูนย์ฮอทไลน์ก่อตั้งและดำเนินการโดยทีมงานที่ตระหนักถึงความต้องการเวลาของผู้หญิง ของผู้ชาย  ของผู้ใหญ่ ของเด็กวัยรุ่น และของบุคคลที่กำลังมีปัญหา เวลาก็เป็นอีกเหตุผลง่าย  ๆ ที่วัยรุ่นออกไปนอกบ้านและสร้างความยุ่งยากให้ผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น ตามแต่ผู้ใหญ่จะใช้คำที่เรียกพฤติกรรมดังกล่าว   การที่เราพูดถึงการให้เวลานั้นไม่ใช่เวลาจะเป็น "ยา" สมานความเจ็บปวดได้ดีที่สุดเท่านั้น  แต่เวลาที่เราต้องการใครสักคนอย่างทันทีทันใด  มีความหมายมากกว่าเวลาที่ยังมาไม่ถึง การให้เวลาที่ถูกจังหวะกับบุคคลแม้เพียงเล็กน้อยมีค่ามากกว่าเวลามากมายที่ให้กับบุคคลที่ยังไม่ต้องการ       

ในขณะที่ผู้คนทุกคนในสังคมทุกระดับชั้นและวัยต่างก็ได้รับส่วนแบ่งของความสับสนในการดำเนินชีวิตอันมีสาเหตุมาจากปัจจัยของเหตุการณ์   สิ่งแวดล้อม   ความเปลี่ยนแปลงภายนอก ซึ่งส่งผลเพิ่มความสับสนให้กับปัจจัยภายในคือ "อารมณ์"ของมนุษย์ทุกคน

                 

เมื่อมีปัญหาใดเกิดขึ้น ในความหมายของคำว่า "ปัญหา" คือ เหตุการณ์ที่คลุมเครือไม่แน่ชัดเหมือนการหารเลขไม่ลงตัว  ไม่รู้เศษที่เหลือควรจะปัดขึ้นหรือปัดทิ้ง และระหว่างที่ยังลังเลไม่แน่ใจ ไม่สามารถตัดสินใจให้แน่ชัดลงไปได้ ความสับสนวุ่นวายก่อให้เกิดอารมณ์คุกรุ่นขึ้นมาปกคลุมปัญหาไว้เบื้องบน    และอารมณ์นี้เองทำให้คนมองปัญหาไม่แน่ชัดหรืออาจทำให้มองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง     

มนุษย์ทุกคนมี  "อารมณ์" เป็นทุนเดิมเหมือนกันหมดอารมณ์เป็นสถานะทางจิต เกิดอยู่ภายในโดยมีปัจจัยภายนอกเป็นเครื่องกระตุ้นให้ระดับอารมณ์ลดต่ำลงหรือเพิ่มขึ้นในแต่ละกรณี โดยมี "สติ" เป็นเครื่องควบคุมและปรับระดับอารมณ์

       

"สติ" ซึ่งเป็นเครื่องควบคุมอารมณ์นี้ เกิดจากความรู้ เกิดจากสามัญสำนึกภายใน เกิดจากการสะสมของประสบการณ์  การศึกษา และภูมิหลังพื้นฐานทางครอบครัว เมื่อบุคคลหนึ่งถูกกระทบกระเทือนทางอารมณ์  ให้มีความโกรธหรือความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างรุนแรง สติจะเข้าควบคุมได้ในระดับหนึ่ง สติจะกำหนดให้บุคคลนั้นควบคุมอารมณ์ของตนเอง หรือสติอาจเปิดโอกาสให้อารมณ์ล้นเขตการควบคุมออกมาก่อนที่จะถึงจุดระเบิด  ซึ่งนั่นอาจจะหมายถึง  การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดในระดับที่ไม่รุนแรงนักไปจนถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้อื่นหรือตัวของเขาหรือเธอเอง 

                ในจุดหนึ่ง อารมณ์ที่ถึงจุดระเบิดกระทันหันโดยสติปรับตัวตามไม่ทัน   อาจเป็นอันตรายต่อสภาวะความสมดุลทางประสาท  ความคิดและจิตใจกลายเป็นอาการเสียสติหรือโรคประสาทที่ต้องได้รับการบำบัดอย่างใกล้ชิดจากจิตแพทย์โดยตรงก็ได้

         

จากสภาวะแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกที่กดดันต่อบุคคล  อารมณ์และจิตใจของแต่ละคนต้องปรับสภาพตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จิตใจที่อยู่ในความสับสนวุ่นวายกลายเป็นอารมณ์ที่ฟุ้งซ่านแผ่กระจายไปทั่ว ๆ  แสดงพฤติกรรมออกมาเป็นบรรยากาศที่ตึงเครียดที่ผู้อยู่ใกล้สามารถสัมผัสได้และอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตของผู้คนรอบข้างด้วย

         

"อารมณ์" เปรียบได้กับโรคติดต่อชนิดหนึ่งซึ่งจะแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วในทุกระดับชั้น  ทุกสถานการณ์ ทุกวงสังคม ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น อารมณ์โกรธที่ระงับไว้ไม่ได้ด้วยสติของบุคคลนั้นจะแสดงออกทางสีหน้าที่บึ้งตึง  คำพูดที่กระทบกระแทก เสียดสี เปรียบเปรย  เยาะเย้ย  ถากถาง  หรือแสดงความไม่เป็นมิตร ผู้ที่ตกเป็นเป้าของความโกรธหรือแม้แต่ผู้ที่พบเห็นก็เกิดความไม่สบายหูสบายตารับเอาอารมณ์ที่ขุ่นมัวเข้ามาไว้ แล้วก็นำออกแพร่ขยายกับบุคคลอื่นต่อไป  และอารมณ์นี้มิใช่มีเพียงประเภทเดียว  อารมณ์มีอยู่มากมายหลายหลากด้วยกัน

        

อารมณ์เป็นสถานะทางจิต  เป็นกิเลสของมนุษย์ มนุษย์มีความรัก โลภ โกรธ หลง  ความต้องการ  ความทะเยอทะยาน ความหึงหวงอาฆาตแค้น ริษยา จากระดับที่รุนแรงที่สุดไปจนถึงระดับของความท้อแท้ สิ้นหวัง เบื่อ พลังทางจิตอ่อนแอจนไม่สามารถรักษาความสมดุลทางร่างกายและความนึกคิดได้ต่อไป มนุษย์อาจทอดอาลัยในชีวิต สิ้นคิด หรือยอมแพ้ สุดท้ายอาจทำร้ายหรือทำลายชีวิตตนเองและผู้อื่นได้

         

ธรรมชาติของอารมณ์เหมือนสสารภายในร่างกาย   จำเป็นต้องได้รับการระบายออกเมื่ออารมณ์อยู่ในระดับเกินความต้องการของร่างกาย  จำเป็นต้องได้รับการเพิ่มเติมเมื่ออยู่ในระดับต่ำ  อย่างในรายท้อแท้สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยากในชีวิต อารมณ์ที่ขึ้นระดับสูงสุดเป็นความกราดเกรี้ยว อิจฉาริษยาชิงชัง โกรธแค้น ถ้าสะสมไว้ต่อไปจะเป็นอันตรายต่อเจ้าตัวและต่อบุคคลภายนอก  จึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ในการระบายอารมณ์ร้าย ๆ ออกเพื่อให้สถานะทางจิตอยู่ในสภาวะสมดุล

        

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ปัจจัยภายนอกเป็นแรงกระตุ้นอารมณ์ให้อารมณ์คุกรุ่นขึ้นเมื่อสถานการณ์ภายในสังคมสิ่งแวดล้อมตกอยู่ภายใต้ความสับสนวุ่นวาย  อารมณ์ภายในก็สับสนทับถมมากขึ้นเป็นหลายเท่าตัวโดยที่สังคมไม่มีมาตรฐานใดจะควบคุมอารมณ์ของคนทั่วไปได้  และเครื่องควบคุมอารมณ์ของแต่ละคนบุคคลก็มีประสิทธิภาพไม่เท่ากัน จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ผู้คนมากมายต้องเป็นเหยื่อของอารมณ์ตนเองของบุคคลรอบข้างและของสังคมไปพร้อมกัน

               

การเริ่มต้นความเป็นเพื่อน

 

                  ธรรมชาติของมนุษย์เรา  คือ  ความปรารถนาที่จะได้อยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่า มีการรวมตัวกันเป็นสังคม   ชุมชน   และทุกคนต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น  ๆ เพื่อจะได้เป็นเจ้าของความรู้สึกมีพวกพ้อง  เพื่อนฝูง  อันทำให้ชีวิตของแต่ละคนเกิดความมั่นคง อบอุ่นและไม่เงียบเหงาว้าเหว่

         

แต่เมื่อใดที่ "เรา" ผู้หนึ่งผู้ใดถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องอยู่คนเดียว  หรือเกิดความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียวตามลำพัง  ขาดพวกพ้องเพื่อนฝูง ขาดคนเข้าใจสนใจ ขาดคนรักใคร่เอาใจใส่  "เรา"  จะเกิดความรู้สึกท้อแท้  เงียบเหงา  คับข้องใจ โศกเศร้า  รู้สึกตัวเองไม่มีค่า หาประโยชน์ไม่ได้ อันอาจจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตเสื่อมโทรมต่อไปได้ การให้ความเป็นเพื่อนให้ความเข้าใจ ให้ความเห็นอกเห็นใจ กับบุคคลประเภทนี้   จึงเป็นการเริ่มต้นของงานลดระดับความตึงเครียดในสังคมไทยปัจจุบัน

         

สังคมไทยในอดีตเป็นสังคมแบบเกษตรกรรม หรือสังคมย่อยที่สมาชิกในสังคมรู้จักมักคุ้นและมีความสนิทสนมพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือกันและกันเสมอมา  แต่จากการพัฒนาไปสู่สังคมอุตสาหกรรมประกอบกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร  ทำให้เกิดการแก่งแย่ง แข่งขัน ในการทำมาหากินการดำเนินชีวิต ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนบ้านญาติมิตร เริ่มห่างเหินไปกลายเป็นต่างคนต่างอยู่  ตัวใครตัวมัน  ไม่มีใครมีเวลาให้ใคร ความเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวจึงเข้าครอบงำหัวใจของผู้คนในสังคมเมืองโดยเฉพาะในเมืองหลวง  เช่น  ผู้คนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ

         

ความเงียบเหงามิได้เลือกเกิดกับผู้หนึ่งผู้ใดหรือชนชั้นใดโดยเฉพาะ  คนร่ำรวยหรือยากจนก็อาจจะเกิดความรู้สึกเช่นนั้นขึ้นมาได้ แต่ผู้ที่อยู่ในฐานะที่เหนือกว่า สูงกว่าร่ำรวยกว่า และสมบูรณ์กว่า ย่อมสามารถแสวงหาวิธีชดเชยความว้าเหว่นั้นได้ดีกว่าและมากกว่าผู้ที่อยู่ในฐานะปานกลางจนถึงยากจน หรือผู้ที่ขาดญาติมิตรเพื่อนฝูง  ตกงาน หรือไร้ที่พึ่งพิง ตลอดจนผู้ที่ขาดความรู้ความสามารถทั้งทางสติปัญญาและหรือทางร่างกาย เช่น ผู้พิการทั่วไป   เพราะฉะนั้นสิ่งง่าย  ๆ ที่พวกเราทุกคนสามารถทำได้ไม่ยาก คือ การหยิบยื่น ความเมตตาและไมตรีจิตให้กับผู้แสวงหา ด้วยความจริงใจโดยไม่ต้องการผลตอบแทนแต่อย่างใด

         

"การให้ความเป็นเพื่อน" ไม่ใช่สิ่งที่จะซื้อหามาได้  และผู้ให้ก็ไม่สูญเสียสิ่งใดไปในการให้ความเป็นเพื่อน   แต่คุณค่าของความเป็นเพื่อนมีราคาสูงเหนือสิ่งใด  ในขณะเดียวกัน คำว่า "เพื่อน" ก็มีขอบข่ายอยู่ในตัวของมันเอง การให้ความเป็นเพื่อนมีลักษณะพิเศษทางความสัมพันธ์ซึ่งทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ให้และผู้รับต่างรักษาข้อจำกัดส่วนบุคคลของตนไว้ได้

         

ในขณะเดียวกันผู้ที่จะให้ความเป็นเพื่อนได้ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ความสามารถพิเศษนอกเหนือจากความตั้งใจที่จะให้เวลาในการฟังคำพูดของผู้อื่นอย่างมีสมาธิ โดยไม่ด่วนกระโจนเข้าไปสั่งสอน  แนะนำ  หรือตัดสินใจให้ผู้หนึ่งผู้ใด แต่ให้กำลังใจและช่วยให้ผู้นั้นยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเองด้วยความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของตนบนรากฐานแห่งการเลือกตัดสินปัญหาของเขาด้วยตัวของเขาเอง

               

การให้ความเป็นเพื่อนของศูนย์ฮอทไลน์

 

                การให้ความเป็นเพื่อนทางโทรศัพท์เริ่มต้นขึ้นเมื่อคุณยกโทรศัพท์และกล่าวคำต้อนรับกับผู้โทรฯ หรือเมื่อคุณเปิดประตูสำนักงานเชื้อเชิญให้ผู้มาใช้บริการเข้าภายในด้วยทีท่า สายตา และรอยยิ้มแห่งไมตรีจิต ความเป็นเพื่อนซึมแทรกอยู่ในคำกล่าวทักคำแรกต่อคนแปลกหน้า  ฉะนั้นขอให้จำไว้ว่าในแต่ละครั้งที่คุณรับโทรศัพท์  ในแต่ละครั้งที่คุณกล่าวคำต้อนรับ  คุณกำลังปูพื้นฐานแห่งมิตรภาพระหว่าง (ศูนย์ฮอทไลน์และผู้มาใช้บริการ) ตัวคุณและผู้ที่คุณติดต่อด้วยโดยตรง   จะเป็นผู้ที่คุณรู้จักหรือผู้มาติดต่องานกับองค์การของคุณผ่านคุณก็ตาม  ถ้าคุณไม่สามารถสื่อความเป็นมิตรหรือสร้างความประทับในให้กับผู้มาติดต่อได้ในครั้งแรก มันอาจหมายความว่านั่นอาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับคุณหรือคุณอาจพลาดไปแล้วสำหรับการให้ความเป็นเพื่อนกับผู้แสวงหาและผู้มาติดต่อ

          

จำไว้ว่าสำหรับคนที่กำลังเผชิญกับปัญหานั้น สิ่งแรกที่ทุกคนจะช่วยเขาได้ คือการให้ความเป็นเพื่อน ให้ความเห็นอกเห็นใจและให้ความเป็นมิตรที่ดี เราไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้ใครได้ในนาทีแรกที่พบกัน  แต่เราสามารถสร้างสะพานแห่งความเชื่อมั่น ความไว้วางใจและความเข้าใจให้แก่กันเสียก่อน   ปัญหาทุกอย่างเราต้องมองเห็นความสำคัญของมันเทียบเท่าที่เพื่อนของเรารู้สึก   คุณต้องไม่มองหรือพิจารณาตัดสินว่าเรื่องหนึ่งเรื่องใดเล็กน้อยไร้สาระ น่าเบื่อ หรือน่ารังเกียจ

                ในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นเพื่อน จะต้องไม่ปล่อยให้ตัวเอง เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของเขา  แต่จงเตรียมตัวที่จะยืนเคียงข้างเขาในอันที่จะให้กำลังใจสนับสนุนในวาระแห่งความทุกข์ยาก ความสับสนวุ่นวายและในยามที่เขาต้องการ "เพื่อน"

        

บนรากฐานแห่งความสัมพันธ์ต้องอาศัยความอดทน ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ "เรา" จะต้องเป็นนักฟังที่ดี มีสมาธิ จดจ่อความนึกคิดของเรากับคำพูดทุกคำที่เขากล่าวออกมาและให้ความเห็นใจ คำปลอบประโลมใจ เราต้องสนับสนุนส่งเสริม ให้กำลังใจแก่ผู้ปัญหาในการระบายความในใจของเขาออกมาให้หมด  ละเว้นคำถามพร่ำเพรื่อ  แต่ใช้คำถามเป็นครั้งคราวเพื่อแสดงถึงความสนใจ ความเอาใจใส่ในเรื่องราวของเขา

       

การให้ความเป็นเพื่อนนั้นเป็นเรื่องของความรู้สึกระแวดระไว หรือที่เรียกว่า Sensitivity และแต่ละสถานการณ์ย่อมแตกต่างกันไป อะไรที่อาจถูกต้องเหมาะสมในกรณีนี้อาจไม่ดีเลยสำหรับในอีกสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันนั้น   เพราะฉะนั้น ในการสร้างความสัมพันธ์ของความเป็นเพื่อนก็คือ การขยายขอบข่ายบริเวณความรู้สึกระแวดระไวของเราออกไปโดยไม่ต้องอาศัยคำพูด เราต้องใช้สามัญสำนึก (Common senses) ใช้ความรู้สึกเป็นเครื่องนำทางในการสร้างความสัมพันธ์  ยิ่งเราสามารถสร้าง ความศรัทธาให้เพื่อนมีความมั่นใจในตัวเราได้เร็วเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นการช่วยเพื่อนให้สามารถเผชิญกับปัญหาของเขาได้เร็วเท่านั้น การสร้างความเชื่อถือและพึ่งพิงได้เป็นสิ่งสำคัญในการให้ความเป็นเพื่อนเช่นเดียวกับการให้ความเมตตาเห็นใจ

                ตลอดระยะเวลาแห่งกระบวนของการให้ความเป็นเพื่อน เราจะต้องพยายามสร้างความมั่นใจและความรู้สึกที่ดีในตัวเองแก่เพื่อน  ตลอดจนสร้างความรู้สึกให้กับเขาว่าเขาสามารถอยู่ได้ด้วยตัวของเขาเอง  เราต้องให้กำลังใจเขาในการเรียนรู้ที่จะพึ่งพิงตัวเขาเอง  และให้เขารู้สึกมีอิสระพอที่จะตัดสินใจ

         

อย่าผูกมัดหรือทำให้เพื่อนรู้สึกว่าเรามีบุญคุณกับเขา  หรือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา   อันทำให้เขาต้องติดต่อมาหาเราอยู่ตลอดไป   เมื่อใดที่เขาไม่ต้องการเราต่อไปแล้ว เขาย่อมจะอำลาจากเราไปได้ ในขณะเดียวกันเราจะอยู่ที่นี่ เป็นเพื่อนในยามต้องการของเขาเสมอและตลอดไป   เมื่อไรที่เขาพอใจจะมาหาเรา  เมื่อเขาต้องการความช่วยเหลือจากเพื่อน เราจะเป็นเพื่อนในยามต้องการของเขาเสมอ

         

อันที่จริงแล้ว  การให้ความเป็นเพื่อนควรเกิดขึ้นกับบุคคลที่ใกล้ชิดก่อน เพื่อนของเราบางคนอาจยังไม่เคยคุยกับบุคคลที่ใกล้ชิดกับตนเองมาก่อน  เช่น ในเรื่องที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับเจ้าของเรื่อง   บุคคลที่สามารถให้ความเข้าใจและความเป็นเพื่อนในระดับแรก ซึ่งเราจะต้องชี้ให้ผู้ใช้บริการเห็นด้วย ได้แก่

                ครอบครัว เช่น ภรรยา สามี พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก หลาน ลุง ป้า น้า อา ตา ยาย ปู่ ย่า เป็นต้น

คนรัก เพื่อนร่วมชั้นเรียน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน เป็นต้น

                คนรู้จักในสถานที่ต่าง ๆ เช่น สำนักงาน สมาคม ชมรม กลุ่ม สโมสร โรงเรียน เป็นต้น

                นักวิชาชีพ เช่น นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาล แพทย์ ครูอาจารย์  เป็นต้น

 

                ในการดำเนินชีวิตประจำวันของแต่ละคน  เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีปัญหา ต้องเผชิญกับความสับสนคับข้องใจ  หรือมีปัญหาที่ยังไม่สามารถจะแก้ไขให้ลุล่วงไปได้  จึงเป็นเรื่องธรรมดาเช่นกันที่เราจะต้องแสวงหาความช่วยเหลือจากคนใกล้เป็นอันดับแรก จงให้โอกาสคนใกล้ได้ให้ความเป็นเพื่อนกับเรา ค่อย ๆ เรียงลำดับความนึกคิดไปว่า…ใครบ้างสามารถจะเป็นที่ปรึกษาที่ดีของเขหรือเธอได้

 

ในแต่ละกรณี ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายเพียงใด ไม่สำคัญขอเพียงให้โอกาสเขาเหล่านั้น เพราะการให้โอกาสคนอื่น ก็เหมือนการให้โอกาสตนเองนั่นเอง

 

 

 

 
 
  Counter 203,642
 
 
© 2012 Thaiteenline. All Rights Reserved. หน้าหลัก | ความเป็นมา | กฎหมายเด็กและครอบครัว | วัยรุ่นอยากรู้ | บทความวัยรุ่น | ฮอทไลน์เคลื่อนที่ | ติดต่อเรา