Thaiteenline-logo
home about law teens article hotline contact
 
     
 

เมื่อเพื่อนมีปัญหา

เมื่อเพื่อนมีปัญหา

 

                                “บนเส้นทางแห่งกาลเวลา                เราพบว่า...ปัญหากับชีวิตเป็นของคู่กัน

                                 ความสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ปัญหา      แต่อยู่ที่ว่า เราจะเผชิญกับปัญหานั้นอย่างไร"

         

                คนทุกคนล้วนแล้วแต่มีปัญหาด้วยกันไม่มากก็น้อย ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่ามีปัญหามากน้อยแค่ไหน  แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเผชิญกับปัญหานั้นอย่างไร และหากว่าเพื่อนของเรามีปัญหา เราจะทำอย่างไรได้บ้าง

               

บุคลิกลักษณะของความเป็นเพื่อน

 

                บุคคลที่จะให้การให้ความเป็นเพื่อนนั้น ควรจะมีบุคลิกลักษณะทั้งภายนอกและภายในที่เป็นมิตร นับตั้งแต่มีใบหน้าที่สดชื่นแจ่มใส มีความสุภาพเรียบร้อย มีทีท่าและแววตาที่อบอุ่น มีวาจาที่ไพเราะนุ่มนวล มีความหนักแน่นมั่นคง มีคุณลักษณะของความเป็นเพื่อนที่ปรากฎให้เห็นได้ทั้งในกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มผู้สูงวัย  หรือบุคคลที่ตนเองไปเกี่ยวข้องด้วย บุคลิกของความเป็นมิตร จะเชื้อเชิญให้ผู้คนที่กำลังทุกข์ใจ มีปัญหาอยากเข้ามาพูดคุยด้วย

     

การสื่อแสดงความเป็นเพื่อน

         

การที่คนเราจะทัศนคติที่ดีต่อตนเองและผู้อื่นนี้ยังไม่เพียงพอเพราะทัศนคติเป็นส่วนหนึ่งของความคิด   ซึ่งถ้าไม่พูดหรือแสดงออกมา  คนทั่วไปอาจไม่เข้าใจรับไม่ได้ หรือการที่ไม่สามารถจะสื่อให้เป็นที่เข้าใจได้  ก็จะกลายเป็นสื่อความหมายผิด  ทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้  เหมือนอย่างที่สุภาษิตไทยชอบนำมาพูดบ่อย ๆ ว่าครูคนนี้ "ปากร้ายใจดี"   เพราะถ้าทำใจอ่อนออกมาแล้ว ลูกศิษย์จะไม่กลัว  เพราะฉะนั้นจะต้องดุว่าส่งเสียงดังให้เด็ก ๆ กลัวเอาไว้ก่อน         

พฤติกรรมเหล่านี้ หากเด็กหรือคนทั่วไปเข้าใจก็ดี    ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจก็ดีก็จะตั้งป้อมเกลียดเอาไว้ก่อน พ่อแม่ก็เช่นกัน การแสดงความรัก การพูดเพราะ ๆ การโอบกอดลูกในยามที่เขาเศร้าใจเสียใจ   พ่อแม่ส่วนใหญ่แสดงไม่เป็น ไม่กล้าคิด  คิดไปว่าลูกจะได้ใจ ประเดี๋ยวใครจะคิดว่าพ่อแม่อ่อนแอ หรือพ่อแม่โอ๋ลูกเกินไป   ทั้ง ๆ    ที่ความจริงการแสดงความรัก การเอาอกเอาใจลูกบ้างไม่ใช่ความผิด และเด็กที่สุขภาพจิตดีก็เติบโตจากการแสดงความรักความเข้าใจอย่างอบอุ่นรักใคร่จากพ่อแม่ทั้งนั้น

         

เพราะฉะนั้น   ในการให้ความเป็นเพื่อนนั้นต้องประกอบด้วยการมีทัศนคติที่ดีต่อตนเองและต่อผู้อื่นทั้งมีความพร้อมที่จะแสดงและสื่อความหมายในความเป็นผู้มีไมตรีจิตออกมาให้ปรากฏด้วย

               

การให้ความเป็นเพื่อนสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้

 

                 ถึงแม้ทัศนคติจะมีผลให้เกิดความแตกต่างในตัวบุคคล    ในการให้ความเป็นเพื่อนกับบุคคลอื่นและกับสิ่งแวดล้อม  แต่การให้ความเป็นเพื่อนเป็นสิ่งที่เรียนรู้และฝึกฝนกันได้ถ้าต้องการ และการให้ความเป็นเพื่อนก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรที่จะฝึกฝน เพราะมนุษย์ทุกคนมีความเป็นเพื่อนอยู่ในตัวอยู่แล้ว

 

….และถ้าความต้องการที่จะให้ความเป็นเพื่อนเป็นขั้นแรกของการฝึกฝน   การยอมรับความเป็นเพื่อนของผู้อื่นก็เป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างตัวเรากับบุคคลและสิ่งแวดล้อมด้วย และมีความเข้าใจว่าเพื่อนของเราคาดหวังอะไรจากเพื่อนบ้าง

 

ความคาดหวังของผู้ที่ประสบปัญหา

 

                ผู้มีกำลังประสบปัญหามักมีความสับสนวุ่นวายใจ มีความวิตกกังวล มีความหมกมุ่นครุ่นคิด ไม่แน่ใจไม่เข้าใจ ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะทำอย่างไร หรือปฏิบัติตนไปในทิศทางไหนผู้ที่กำลังมีปัญหาจึงต้องการความมั่นใจ  กำลังใจ    ต้องการคำตอบสำหรับปัญหาของเขา   ขณะเดียวกันก็มีความหวาดระแวงกลัวว่าจะมีใครรู้เรื่องของเขาแล้ว  นำเอาเรื่องของเขาไปพูด  เปิดเผยหรือติฉินนินทาทำให้ได้รับความอับอาย  คนที่กำลังมีปัญหาส่วนใหญ่จึงต้องการปกปิดปัญหาของตนเอาไว้  หรือมองหาใครที่เขามั่นใจว่าจะเก็บความลับของเขาเอาไว้ได้

                เพราะฉะนั้นในการให้ความเป็นเพื่อนกับผู้มีปัญหา  ประการแรก คือ การสร้างบุคลิกภาพของความเป็นเพื่อนที่ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความมั่นใจ   ไว้วางใจว่าจะไม่นำความลับของเขาไปเปิดเผย

                ในขณะที่การให้ความเป็นเพื่อนและความเป็นมิตร เป็นส่วนประกอบพื้นฐานของผู้ให้คำปรึกษาแนะนำทุกคน  ทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ และทุกสถานภาพทางสังคม  แต่การให้คำปรึกษาแนะนำที่แท้จริงเป็นเรื่องของการเรียนรู้ของประสบการณ์และเป็นเรื่องของเทคนิคการให้คำปรึกษาแนะนำจะต้องใช้เวลาในการฝึกฝนเป็นนักวิชาชีพที่แท้จริง ทั้งนี้หากคนหนึ่งคนใดขาดคุณสมบัติของการให้ความเป็นเพื่อน จะไม่สามารถทำงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบของตนให้เป็นผลสำเร็จได้

               

 

การรับฟังปัญหาของเพื่อน

 

                อย่างน้อยสักครั้งหนึ่งคงจะมีเพื่อน   ญาติมิตร  หรือคนรู้จักมาพูดคุยปรับทุกข์ระบายความในใจ  และแทบทุกครั้ง  เราอาจรู้สึกอึดอัดใจไม่รู้จะวางตัวอย่างไร ที่สำคัญ ไม่รู้ว่าจะให้คำปรึกษาแนะนำแก่เขาหรือเธออย่างไร     

สาเหตุที่เรารู้สึกอึดอัด อาจเป็นเพราะเรามีงานหรือธุระยุ่งมาก    และอยากให้ใช้เวลาจัดการกับงานของเรามากกว่าจะต้องเสียเวลาฟังใครพูด  นอกจากนั้น เราอาจแปลกใจว่า  ทำไมเขาจึงต้องเอาเรื่องส่วนตัวของเขามาเล่าให้เราฟัง  เราคิดว่าปัญหาส่วนตัวเป็นเรื่อง  "เฉพาะ"  ที่เขาควรจะเก็บเอาไว้แก้ไขด้วยตนเอง  โดยเฉพาะถ้าเรามีปัญหาอะไรคงไม่กล้าปรึกษาใคร   เพราะเรารู้สึกอับอายพ่ายแพ้และเสียหน้า ถ้าต้องยอมรับปัญหาเพราะฉะนั้น เราจึงรู้สึกอึดอัดที่ต้องมารับรู้เรื่องส่วนตัวของผู้อื่น

         

ที่สำคัญ  เมื่อมีผู้มีเล่าปัญหาให้เราฟัง หากเราไม่ได้รับการฝึกฝนมา เราไม่รู้ว่าจะให้คำปรึกษาหรือจะแนะนำเขาอย่างไร สิ่งที่พูดโต้ตอบไปอาจถูกผิด เราเองก็ไม่แน่ใจ เพราะฉะนั้นเพื่อความสบายใจ เรามักเลือกที่จะไม่รับรู้ปัญหาของใคร หรือว่าใครมาเล่าปรับทุกข์ระบายความในใจ เราก็จะรีบตอบไปก่อนว่า    "ใจเย็นๆ เถอะ ไม่เห็นมีอะไรเลย”หรือ"เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ   อย่าไปสนใจเลยเพื่อน!"  คำพูดเหล่านี้เป็นคำพูดปัดเพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องรับรู้ หรือมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขา

ความจริงการไม่รับรู้หรือไม่สนใจปัญหาความเป็นไปของคนอื่นเป็นเรื่องดีหรับทุกคน แต่ในสังคมไทยที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันบ้างเล็ก ๆ   น้อย ๆ   เป็นเพื่อนฝูงญาติมิตรหรือคนใกล้ชิดที่ต้องเผชิญปัญหาการต่อสู้แข่งขันกับการดำเนินชีวิตประจำวัน  การให้ความเมตตาช่วยเหลือเจือจุนกันบ้างในเรื่องจำเป็น    แม้เราจะช่วยแก้ปัญหาเขาไม่ได้ แต่การให้ความเห็นอกเห็นใจและให้เวลารับฟังปัญหาเขาบ้าง จะช่วยลดช่องว่าง  ความคับข้องใจ และความทุกข์ใจของคนใกล้ได้มากมาย

         

 ส่วนใหญ่คนที่มาปรับทุกข์กับเพื่อนก็เพื่อระบายความคับข้องใจ อาจไม่ต้องการคำแนะนำหรือความช่วยเหลือใด ๆ   จากเรา  อาจเพียงอยากปรับทุกข์  แบ่งปันความรู้สึก อยากรู้ว่าว่าในความทุกข์ของเขา  ยังมีใครสักคนที่สนใจและให้ความเอาใจใส่  ยังมีผู้จะให้ความสนใจเขาให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคและลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้ปัญหาชีวิตไปได้         

การแสดงความเข้าใจ  ความเห็นอกเห็นใจ  การให้กำลังใจกับคนที่มีปัญหาไม่ต้องเสียอะไรมากไปกว่าการให้เวลาและรับฟังเขาด้วยความตั้งใจเล็กน้อยก็พอ ปัญหาส่วนใหญ่ในสังคมทุกวันนี้  เพราะเราต่างไม่มีเวลาให้กัน สามีเลิกจากงานกลับบ้านก็ไม่อยากฟังปัญหาภายในบ้าน  เช่น  ยิ่งถ้าภรรยาบ่นเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่หยุดหย่อน  สามียิ่งใช้เป็นข้อแก้ตัวหรือเงื่อนไขในการออกไปดื่มเที่ยวกับเพื่อนบ้านหลังเลิกงาน  ลูกกลับบ้านจะพูดคุยปรึกษาหรือถามปัญหาพ่อแม่  แต่พ่อไม่อยู่ แม่ก็วุ่นวายกับงานบ้าน ปากก็บ่นว่าไปเรื่อย ลูก ๆ ก็ทนไม่ได้ เพราะไม่อยากรับรู้รับฟังปัญหาของพ่อแม่ ก็หาโอกาสเถลไถลไม่กลับบ้าน   เพราะไม่อยากเผชิญกับปัญหาขัดแย้งของพ่อแม่ที่บ้าน ภรรยาก็เหนื่อยจากงานทั้งนอกบ้านในบ้าน  งานในที่ทำงานและปัญหาการดูแลความสะอาด  อยากได้รับความเข้าใจเห็นอกเห็นใจจากสามีจากลูกบ้าง

        

ต่างฝ่ายต่างก็เหนื่อยโดยไม่ทันนึกว่าต่างฝ่ายต่างต้องการเวลา   การให้กำลังใจ  การปลอบใจ  การรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน ต่างฝ่ายต่างเรียกร้องจะได้รับมากกว่าจะให้ ชีวิตภายในครอบครัวจึงกระจัดกระจายไปคนละทาง  เพียงเพราะเราต่างไม่มีเวลาให้แก่กัน  เพราะฉะนั้นเพียงเราสละเวลาให้แก่กันวันละนิด  จะช่วยปัญหาชีวิตและปัญหาความขัดแย้งในทุกระดับของสังคมลงไปได้มาก

         

การรับฟังอย่างมีสมาธิด้วยความตั้งใจ  แม้ว่าเราจะไม่เข้าใจปัญหา เพียงแต่ฟังเขาไปก่อนจะช่วยให้ลดความร้อนให้เย็นลงได้บ้าง   หลังจากนั้นอาจจะให้นักวิชาชีพที่มีความชำนาญการให้คำปรึกษาแนะนำรับหน้าที่ช่วยเหลือต่อไป นั่นคือ การให้ความเป็นเพื่อนเช่นกัน

               

การให้ความช่วยเหลือผู้ปัญหา         

 

                เมื่อคนคนหนึ่งเกิดปัญหา    สิ่งที่มาด้วยกับปัญหาก็คืออารมณ์    กล่าวได้ว่าปัญหาจริง ๆ ของแต่ละบุคคลนั้นอาจมีเพียง 50 เปอร์เซ็นต์  แต่ความกดดันจากปัญหาเป็นความโกรธความเกลียด  ความเสียใจ  ความเศร้าใจ ความทุกข์ใจ และความสับสนวุ่นวาย ซึ่งหากจะใช้ "ปรอทอารมณ์"   มาเทียบวัด  อารมณ์ต่าง  ๆ  ที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ระดับของปรอทอารมณ์ขึ้นสูงกลายเป็น 100 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งถ้าหากปล่อยให้ขีดหรือระดับความกดดันดังกล่าวขึ้นสูงไปเรื่อย  ๆ ก็อาจกลายเป็นอาการ "ฟิวส์ขาด" หรือ "เบรคแตก" หรือถึง"จุดระเบิด"ได้คือ สภาพจิตขาดความสมดุล  จนไม่อาจควบคุมตนเองต่อไปได้  อย่างที่เราเรียกว่า อาการเสียสติหรือคลุ้มคลั่ง  เพราะฉะนั้นวิธีที่จะช่วยลดความกดดันทางอารมณ์ของผู้มีปัญหาลงได้ก็คือ  การเปิดโอกาสให้ผู้มีปัญหาได้พูดระบายความในใจ  ความคับข้องใจ  ความทุกข์ใจออกมา สิ่งที่ผู้มีปัญหาคาดหวังว่าจะได้รับจากความเป็นเพื่อนจากใครสักคน นั่นก็คือ

       

.  การให้เวลา   การดำเนินชีวิตในสังคมทุกวันนี้ ต่างฝ่ายต่างก็มีความเร่งรีบแก่งแย่งแข่งขันกันทำมาหากิน จนเราแทบจะไม่มีเวลาให้แก่กัน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา พ่อแม่ลูก ครูอาจารย์ เพื่อน ๆ ในโรงเรียนหรือที่สำนักงาน แต่ครั้นถึงนาทีวิกฤต  เราจึงนึกขึ้นได้  และอยากให้ใครก็ได้ให้เวลากับเรา  อยู่กับเรา หรือเป็นเพื่อนเรา  เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผู้มีปัญหาร้องขอ  คือเวลา  และ  "เพื่อน" ก็ควรจะให้เวลากับเพื่อนบ้าง โดยเฉพาะในภาวะวิกฤต

        

.  การรับฟัง   ผู้มีปัญหาต้องการพูดระบายความในใจ ความทุกข์ใจของเขาให้ฟัง เพื่อนผู้ฟังจึงต้องมีสมาธิ มีความตั้งใจที่จะให้ผู้มีปัญหาตระหนักว่า ผู้ฟังสนใจใส่ใจในความทุกข์ของเขา  และที่สำคัญคือ เพื่อนหรือผู้ฟังต้องไม่วิพากษ์วิจารณ์ตัดสิน พิพากษา กล่าวหาผู้มีปัญหาจนกว่าเขาจะพูดจบหรือถาม   การจู่โจมเข้าสู่การตัดสินปัญหา   เช่นประโยคว่า "เราเข้าใจผิด”  “เรามันไม่ดีเอง” “เราไม่ควรคิดแบบนั้น”  “เราโง่เอง”  หรือประโยคที่ว่า  “อย่าร้องไห้ไปเลย  "หยุดร้องไห้ได้แล้ว"  "ไม่เห็นมีอะไรเลย"  "ทำตัวเป็นคนอ่อนแอไปได้”

 

                คำพูดเหล่านี้จะทำให้ผู้มีปัญหารู้สึกว่า   ตัวเขากำลังถูกพิพากษา   ถูกตัดสิน หรือถูกวิจารณ์ว่า  เป็นคนผิด เป็นคนเหลวไหล เป็นคนไร้สาระ มีความอ่อนแอ ไม่ควรทำหรือพูดต่อไป กลายเป็นความน้อยใจ เสียใจหรือกลายเป็นปัญหาเพิ่มมากขึ้นอีก  เพราะฉะนั้น  ผู้ให้ความเป็นเพื่อนจะต้องเป็นนักฟังที่ดี ไม่จู่โจมเข้าสู่ข้อสรุปหรือวิพากวิจารณ์ตัดสิน  หรือแนะนำจนทำให้ผู้ที่มีปัญหารู้สึกเหมือนกับว่าตนเองโง่เขลาเบาปัญญา

         

.  การให้คำปลอบโยน   โดยการแสดงความรู้สึกว่าเห็นใจ  เข้าใจ และให้กำลังใจ    เช่น  พูดว่า  "ผมเข้าใจ..”  “แล้วเรารู้สึกอย่างไร?"  “เราคิดอย่างไร?"      "โกรธเขาไหม?"  "แล้วยังไงต่อไป.."  "พูดต่อไปอีกซิ!"   "แล้วหลังจากนั้นล่ะ..."

              

การซักถามถึงความรู้สึกของผู้มีปัญหาและให้โอกาสเขา/เธอได้พูดระบายความในใจ และดึงเอาความรู้สึก ความทุกข์ใจของผู้มีปัญหาออกมา เช่น พูดว่า "ฉันรู้..ว่าเธอเสียใจมากกับเรื่องนี้" หรือให้คำชมเชยเพื่อให้กำลังใจ เช่น     "แต่เธอก็กล้าหาญมากที่ตัดสินใจไป"  “เรามีความกตัญญูมาก"  "หนูเป็นเด็กที่น่ารักมาก"   เป็นต้น

                การปลอบโยนนั้นยังสามารถใช้กิริยาท่าทางได้อีก เช่น

                - มองด้วยสายตาที่มีความเมตตา เข้าใจและรับฟังอย่างตั้งใจ

                - บีบมือเบา ๆ เป็นการถ่ายทอดความเห็นใจ เข้าใจ หรือปลอบใจ         

                - ตบไหล่เบา ๆ เพื่อให้กำลังใจ

                - ถ้าผู้มีปัญหาเป็นเด็กเล็ก ๆ หรือวัยรุ่นกำลังร้องไห้ อาจโอบกอดลูบหลังไหล่ เพื่อเป็นการปลอบใจ

 

                ง.  การให้แนะนำ   ในระดับของการให้ความเป็นเพื่อน ซึ่งไม่ใช่นักวิชาชีพจะต้องมีความระมัดระวังในการใช้คำพูดแนะนำ โดยพิจารณาว่า

                -ก่อนอื่นต้องประเมินดูว่า ผู้มีปัญหาต้องการอะไร

                -เขาต้องการพูดระบายความในใจ ให้มีคนรับฟังก็พอ พูดแล้วสบายใจขึ้นโดยไม่ต้องการคำแนะนำใด ๆ

                -เขาอาจต้องการเพียงกำลังใจ คำปลอบใจเท่านั้นก็พอใจแล้ว

                -เขาอาจต้องการคำแนะนำจริง ๆ เราจะต้องพิจารณาว่าปัญหาของคนนั้นมีความเร่งด่วน ซับซ้อนหรือยุ่งยากแค่ไหน

         

                ผู้ฟังจะสามารถแนะนำได้ คือ แนะแนวทางให้เขาลองปรึกษาหลาย ๆ คนดูก่อน อย่างเช่น พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ครูอาจารย์ สามีภรรยา หรือคนใกล้ชิดดูก่อน ผู้ที่อยู่ใกล้อาจมีความเข้าใจและรับรู้รายละเอียดมากกว่า  ต้องเข้าใจว่าคนที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับความรู้สึกของเขาเป็นหลัก อาจจะเข้าข้างตนเองหรือพูดให้ประโยชน์แก่ตนเอง และอาจไม่ได้พูดความจริงทั้งหมด เพราะฉะนั้นคนใกล้ชิดที่เป็นผู้ใหญ่อาจให้คำปรึกษาแนะนำได้ดีกว่าเรา

        

แต่ถ้าเป็นปัญหาสำคัญ  ๆ เช่น ควรจะหย่าหรือไม่ควรหย่า คงเป็นการดีหส่าที่เราจะแนะนำให้ไปพบนักวิชาชีพทางจิตวิทยาหรือจิตเวช ผู้มีปัญหาจะได้เข้าใจและสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง หรืออาจกล่าวได้ว่าคำแนะนำที่ดีสุด ถ้าผู้ฟังนำไปใช้ไม่ได้ ก็ไร้ค่าและไม่มีความหมายอะไร

 

 
 
  Counter 203,663
 
 
© 2012 Thaiteenline. All Rights Reserved. หน้าหลัก | ความเป็นมา | กฎหมายเด็กและครอบครัว | วัยรุ่นอยากรู้ | บทความวัยรุ่น | ฮอทไลน์เคลื่อนที่ | ติดต่อเรา