Thaiteenline-logo
home about law teens article hotline contact
 
     
 

การเริ่มต้นความเป็นเพื่อน

การเริ่มต้นความเป็นเพื่อน

 

                เราจะเริ่มต้นตรงไหน ในความเป็นเพื่อน เราคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า "ถ้าอยากจะมีเพื่อน  ก็จงเป็นเพื่อนที่ดีของตนเองให้ได้เสียก่อน และถ้าอยากจะมีเพื่อนที่ดี ก็จงปฏิบัติต่อเขาหรือเธอ เหมือนกับที่เราอยากให้เพื่อนปฏิบัติต่อเรา!"     

ในการให้ความเป็นเพื่อน   เราคงต้องมองว่าเราจะเริ่มต้นการให้ความเป็นเพื่อนกับใคร ที่ไหน และอย่างไร

 

การให้ความเป็นเพื่อนกับตนเอง

      

                มีคนเป็นจำนวนมากที่ทุ่มเทกำลังกาย  กำลังใจ  งานสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือดูแลคนอื่น  เขาคิดแต่ว่า ถ้าทำให้คนอื่นมีความสุขได้ เขาก็มีความสุขแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครจะขอร้องให้เขาทำอะไร     ไม่ว่าเขาจะชอบหรือไม่    จะเป็นความยากลำบากกับเขาเพียงใด เขาไม่เคยปฏิเสธ เขาคิดว่าตราบใดที่การขอร้องให้ช่วย ไม่เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง  เขาทำได้ทั้งนั้น  เพราะฉะนั้นเขาจึงทุ่มตัวทำให้ทุกอย่าง

               

…และพอทำได้แล้ว  คนคนนั้นแสดงความขอบคุณเขา  ชื่นชมว่าเขาเป็นคนเก่ง เขาจะรู้สึกภูมิใจ  และคิดว่านั่นคือความสุข  เขาไม่เคยคิดว่าตนเองจะต้องเสียเวลา เสียทรัพย์ หรือเดือดร้อนหรือไม่ แต่จะให้เขาปฏิเสธความช่วยเหลือ เขาทำไม่ได้ บุคคลที่ประพฤติตนเช่นนี้ แบ่งได้เป็นสองประเภทอย่างกว้าง ๆ คือ

 

                ประเภทที่  1   มีความต้องการที่จะได้รับการยอมรับนับถือ  การยกย่องสรรเสริญจากผู้อื่น  เขาต้องการได้ชื่อว่าเป็นคนดีสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) เพราะฉะนั้นเขาจึงปฏิเสธใครไม่ได้  การปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือใคร ๆ กลายเป็นการเสี่ยงต่อความสูญเสียภาพลักษณ์ที่ดีของตัวเองไป   เพราะฉะนั้นถึงจะเหนื่อยแสนเหนื่อย  หรือเบื่อที่สุดในสิ่งที่ถูกขอร้องให้ทำเขาก็จะทำให้   เพื่อรักษาบทบาทความเป็นคนดีของตนเองไว้  แต่สุดท้ายเขาอาจต้องเหนื่อยเปล่า เพราะการทุ่มตัวช่วยคนอื่นตลอดเวลา ปฏิเสธไม่เป็นเท่ากับเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้บุคคลอื่น    ฉวยโอกาสเอาเปรียบจากเราโดยไม่พยายามช่วยเหลือตนเอง  เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้คนอื่น ๆ ขาดความเกรงใจ และละเมิดสิทธิส่วนตัวของเรา

                ในอีกความหมายหนึ่ง คือ เป็นการไม่รักตัวเอง และไม่เคารพสิทธิส่วนบุคคลในการที่จะพิจารณาตัดสินว่า  อะไรที่เราควรช่วยเหลือ  หรือไม่ควรช่วย อะไรจะช่วยได้แค่ไหน  และอย่างไร  แต่การไม่รู้จักปฏิเสธเป็นการเปิดโอกาส ให้คนอื่นทำการตัดสินใจแทนเรา  นาน  ๆ  ไปจะกลายเป็นความสับสนขัดแย้งภายในตนเอง  และกลายเป็นการเกลียดตนเองที่อ่อนแอ ยอมรับปากใครต่อใครได้ ทำให้เป็นภาระทั้งทางร่างกายและจิตใจอันอาจส่งผลให้กลายเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตที่ไม่ปกติไปได้  เมื่อถึงจุดนั้นก็จะไม่สามารถให้ความเป็นเพื่อน  เป็นมิตรไมตรี หรือให้ความช่วยเหลือกับใครได้  และยิ่งถ้าผิดหวังจากความคาดหวังว่าจะได้รับการยกย่องสรรเสริญ  อาจกลายเป็นความโกรธเกลียดชิงชัง หรือต่อต้านการให้ความเป็นมิตรกับใคร ๆ               

เพราะฉะนั้น  ก่อนที่จะให้ความเป็นเพื่อนกับคนอื่น  ต้องตรวจสอบไปพร้อมกันด้วยว่า  เราได้ให้การดูแลตนเองอย่างเพียงพอแล้ว การให้ความรัก ความเคารพในขอบข่ายความสามารถของตนเอง  ก็คือการให้ความเป็นเพื่อนที่ดีกับตัวเอง ทำได้ ช่วยเขาได้ แต่ต้องไม่ใช่การทำร้ายตนเอง  หรือทุ่มเททำไปเพียงเพื่อแลกเปลี่ยนกับคำสรรเสริญเยินยอของผู้อื่น เป็นการกระทำที่คาดหวังผลตอบแทน ซึ่งถ้าไม่ได้ก็จะยิ่งเสียใจ

      

ประเภทที่ 2   การที่เราพยายามเอาใจหรือพยายามวิ่งไปยึดเพื่อน  ติดเพื่อน บริการให้ความช่วยเหลือหรือสร้างความสัมพันธ์  ฉันท์มิตรสหายไว้มากมาย  ก็เพราะเรากลัวความเหงา  หลายคนกลัวว่า นานไปจะไม่มีเพื่อน แก่ตัวไปจะไม่มีใครอยู่คอยดูแล ยังมีคู่สมรสที่ไม่มีลูกมากมาย  ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะ "ความเหงา" จึงทำให้ตัดสินใจไปขอบุตรบุญธรรมมาเลี้ยง เพื่อว่าจะได้มีคนมาดูแลเมื่อแก่  เลี้ยงเอาไว้จะได้ไม่เหงา ถ้าสมหวังก็ดีไป แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราจะไม่ผิดหวัง กลายเป็นพ่อแม่ที่มีปัญหาไป ก็ลองพิจารณาดูถ้าตนเองยังเป็นเพื่อนของตนเอง ของคนใกล้ไม่ได้ แล้วจะหาใครที่ไหนมาทนเป็นเพื่อนเราได้ ?              

ด้วยเหตุนี้ จึงควรเรียนรู้ที่จะให้ความเป็นเพื่อนของตนเองให้ได้เสียก่อน   เราจะได้ไม่ทำตัวให้เป็นที่รำคาญของใคร หรือทำให้หลาย ๆ คนต้องทนอยู่กับเรา ยอมรับกับตนเองว่า "ความเหงา" เรามีด้วยกันทุกคน   แต่ในความเหงาก็มีความเป็นเพื่อนอยู่ด้วย  เป็น ความสงบที่เราสัมผัสได้ด้วยใจ เวลาที่ต้องอยู่เงียบ ๆ อยู่คนเดียว หางานอดิเรก หรือสิ่งที่เราเคยคิดอยากทำมาทำ          

         

เริ่มลงมือทำ อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง ฝึกตัวเองในการอ่านหนังสือ ฟังเพลง ฝึกใจตนเองให้มีสมาธิในสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ไม่ปล่อยให้จิตใจตนเองฟุ้งซ่าน วุ่นวายกับคำถามว่าทำไม ? และทำไม ? เพราะไม่มีใครจะให้คำตอบกับเราได้เท่ากับตัวของเราเอง

              ควรมองหาความสุขเล็ก   ๆ น้อย ๆ จากความเป็นเพื่อนในธรรมชาติรอบ ๆ ตัว  ต้นไม้ ดอกไม้ สายลม แสงแดด ล้วนมีสื่อที่สร้างสรรค์ ปลอบประโลมใจเราให้คลายเหงาได้เสมอ

                

ถ้าคนเราไม่สามารถจะให้ความเป็นเพื่อนกับตนเองกับสิ่งเล็ก  ๆ  น้อย  ๆ รอบตัวเราได้  เป็นการยากที่เราจะให้ความเป็นเพื่อนกับคนอื่น  และถ้าไม่คิดจะให้ความเป็นมิตรกับตนเอง  คอยแต่แสวงหาจากบุคคลอื่น ก็จะต้องแสวงหาต่อไปไม่สิ้นสุด ลองคิดดูว่า ถ้าตนเองยังทนเป็นเพื่อนของตนเองไม่ได้ ใครจะทนเราได้?

               

การให้ความเป็นเพื่อนกับคนใกล้

 

               คนใกล้มีความหมายรวมถึงคู่สมรสของเรา สามี ภรรยา ลูก ๆ พ่อแม่ พี่น้องภายในครอบครัว คู่รัก ตลอดจนเพื่อน ๆ ที่เราคุ้นเคย หรือระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง คงจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า   "ไปทำงานสังคมสงเคราะห์กับคนนอกบ้านเสียมากมาย แต่ลืมสงเคราะห์คนในบ้าน" นั่นคือเราเที่ยวออกไปคบหาสมาคมให้ความเป็นเพื่อนกับคนนอก  แต่ลืมคิดถึงคนใกล้ว่าเขาก็ต้องการ  "เพื่อน"  ต้องการความเป็นเพื่อนเช่นกัน             

หลายคนเข้าใจว่า   ในความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา   ต้องมีความรัก ความซื่อสัตย์  มีความรับผิดชอบในหน้าที่เท่านั้น  ฉะนั้นเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด  หมดรัก ขาดความซื่อสัตย์  หรือขาดความรับผิดชอบ  ทำให้ฝ่ายที่ผิดหวังมีความโกรธเกลียด กลายเป็นความอาฆาตแค้นเป็นศัตรู สุดท้ายอาจฆ่ากันตายไปข้างหนึ่ง หรือฆ่าตัวตายเพราะความผิดหวังเสียใจ ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ถ้าเขาไม่เห็น "ค่า" ของเรา          

ความจริงก็คือ  ยิ่งถ้าคู่สมรส  คู่รักไม่เห็นค่าของเรา เรายิ่งต้องรักตัวเอง เห็นค่าและรักษาตัวเองให้มากกว่าเก่า  ที่สำคัญในความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา  คู่รัก พ่อแม่ลูก พี่น้องนั้น ก็ต้องมีความเป็นเพื่อนอยู่ด้วยเสมอ

                

ในคู่สมรสที่อยู่กันมาจนแก่ชราไปด้วยกัน  ลองถามดูว่า เขาอยู่กันอย่างไร คำตอบคืออยู่ด้วยกันอย่างเพื่อน โดยความจริงแล้ว มนุษย์เราทุกคนต้องการเพื่อนที่จะให้ความเป็นเพื่อนกับเราได้ เป็นคนที่เข้าใจและสามารถให้อภัยในความผิดพลาดของเรา

        

ส่วนความรักและความหึงหวง ในรูปแบบนั้นเป็นเรื่องของอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลา  นานไปก็ร่วงโรยเหี่ยวเฉา  เบื่อหน่ายกันไปตามวันเวลา แต่ที่ทนกันมาได้ อยู่ด้วยกันมาได้ ก็เพราะอยู่กันได้อย่างเพื่อน ถึงคราวจะตายเราทุกคนก็จะต้องตายคนเดียว ไปคนเดียว  จะหาคนตายไปเป็นเพื่อนไม่มี ก็มีแต่ตนเองนั่นแหละที่จะเป็นเพื่อนตายของตนเองเช่นกัน

                ในความสัมพันธ์ฉันพ่อแม่กับลูก ๆ ถ้าคิดแต่ว่าพ่อแม่จะต้องเป็นที่เคารพของลูก  เพราะว่าเป็นผู้อุปการะมีพระคุณ  เป็นคนเลี้ยงดูส่งเสีย พ่อแม่มีสิทธิว่ากล่าวตักเตือนลูกจะโต้แย้งไม่ได้ สุดท้ายพอเลี้ยงเขาโต เขาก็หนีกันหมด หรือถ้าอยู่ด้วย ก็อาจทนอยู่หรืออยู่ทน  อยู่อย่างปราศจากความสุข มีปัญหาก็ไม่มีใครกล้าปรึกษาใคร เพราะปรึกษาไปก็คงต้องโดนดุ  หรือความคิดที่ว่า พ่อแม่รู้ดีทุกอย่าง พ่อแม่ต้องเก่งกว่าเสมอ ลูก ๆ จะรู้ดีกว่าพ่อแม่ได้อย่างไร

                

 ในช่วงระยะเวลาหนึ่งการดุว่าอบรม  ตักเตือน  สั่งสอน สำหรับลูก ๆ เป็นเรื่องจำเป็น เพราะเด็ก ๆ ต้องการความรู้สึกปกป้องคุ้มครอง ต้องการการชี้แนะเป็นแนวทางในการตัดสินใจ แต่ยิ่งเด็กโตขึ้น เด็ก ๆ ต้องการความรู้สึกว่า พ่อแม่เป็นเพื่อนของเขาด้วย ต้องการการยอมรับ และความรู้สึกว่า เขาสามารถที่จะพูดหรือปรึกษาเรื่องใด  ๆ กับพ่อแม่ก็ได้ พ่อแม่ต้องเข้าใจเพราะสมัยหนึ่งพ่อแม่ก็เป็นเด็กมาก่อน

                ในขณะเดียวกัน กาลเวลาและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ถ้าพ่อแม่ยังติดอยู่กับคำว่า  "สมัยพ่อแม่เป็นอย่างนี้ ต้องทำอย่างนี้...ไม่เห็นเป็นอย่างลูกเลย!"  เด็ก ๆ จะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ  ชอบเอาไปเปรียบเทียบกับตัว เขาก็จะพากันถอยห่าง ไปยึดเพื่อน รักเพื่อน เข้ากลุ่มเพื่อนที่ยอมรับเขาได้ สุดท้ายเราก็อาจจะเสียลูก ๆ ไป

                  

ในความสัมพันธ์ฉันพี่น้องก็เช่นกัน  การอบรมเลี้ยงดูจากพ่อแม่ที่จะให้การเอาใจใส่  ความสำคัญของลูก ๆ เสมอกัน นอกจากจะสอนให้พี่รักน้องปกป้องน้องสอนน้องให้รักและเคารพเชื่อฟังพี่แล้ว ก็ต้องสอนให้พี่น้องสามารถเป็นเพื่อนเล่น เป็นเพื่อนปรึกษากันได้

                 

การอบรมของพ่อแม่ที่ทำให้ลูก ๆ รู้สึกว่า "ฉันเป็นลูกรักของแม่นะ..." "ฉันเป็นพี่แกนะ..."  "ฉันเก่งกว่าแกนะ..."  "ฉันเหนือกว่าแกนะ..."  การแข่งขันกันระหว่างพี่น้องเป็นเรื่องธรรมดา ตามธรรมชาติของเด็ก ๆ แต่การให้ความรู้สึกกับเด็กว่า นอกเหนือจากความเป็นพี่น้องแล้วเขายังเป็นเพื่อนกันด้วย ทำให้เด็กเกิดการยอมรับคนคนนั้นในฐานะของคนคนหนึ่ง ซึ่งจะเติบโตและเท่าเทียมกันทางความคิด เป็นเพื่อนที่เข้าใจ และให้อภัยกัน  ไม่ใช่พี่ที่เหนือกว่าและน้องที่ด้อยกว่าเท่านั้นซึ่งคล้ายกับการสนับสนุนให้มีการเปรียบเทียบแข่งขัน เพราะในกรณีนั้นถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีปัญหา ย่อมไม่กล้าที่จะปรึกษา ไม่กล้าที่จะขอความช่วยเหลือ กลายเป็นต่างคนต่างไป และคนที่จะเสียใจคือพ่อแม่

                 

ในความสัมพันธ์ของคู่รัก  การเริ่มต้นจากการทดลองเป็นเพื่อนเป็นพื้นฐานที่สำคัญ  และหมายถึงการยอมรับคนคนนั้น ในฐานะของคนคนหนึ่ง จะสังเกตเห็นได้ว่า ในการคบเพื่อนนั้นถึงจะมีความคิดอุปนิสัยที่แตกต่างกัน  แต่เพียงเพราะเราเข้าใจกันและกันและพอใจพึงใจที่จะคบเป็นเพื่อน เราก็ยอมรับอย่างที่เขาเป็นได้ แต่การเป็นคู่รักกลายเป็นว่าคนคนหนึ่ง    เข้าไปสู่หลักเกณฑ์ที่เรากำหนดไว้   แล้วถ้าปรากฏว่า  เขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น  หรือผิดไปจากความคาดหมายของเรามาก เขาจะรู้สึกผิดหวัง เสียใจ มีอารมณ์มีความไม่พอใจ  แล้วการการทะเลาะวิวาทกันก็เกิดขึ้น  สุดท้ายก็ต้องแยกย้ายกันไป เพราะเรามองข้ามพื้นฐานของความเป็นเพื่อนในกันและกันไป

               

ในความเป็นเพื่อน การให้ความเป็นเพื่อน มีช่องว่างระหว่างกันให้เราเติบโตขยายใหญ่ ไม่เบียดเสียดอัดแอ หรือกระทบกระทั่งกันจนให้อภัยไม่ได้ เพราะฉะนั้นในความสัมพันธ์ฉันคู่รัก ขอให้มีความเป็นเพื่อนให้แก่กันไว้เสมอ

                 

ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างหรือหัวหน้ากันลูกน้อง เป็นเพียงบทบาทที่ถูกกำหนดโดยหน้าที่ความรับผิดชอบ   ความสามารถ  ความรอบรู้  และสิ่งแวดล้อมหรือสถานที่นั้น ๆ ชั่วระยะหนึ่ง ต่างภาวะการณ์ ต่างเวลา ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปหรือกลับกลายไปได้ เพราะฉะนั้นการหวงติดกับอำนาจหน้าที่ ว่าฉันเก่งกว่า ฉันเหนือกว่า หรือซีเนียร์กว่าจะมาล่วงเกินพูดเล่นกับฉัน ไม่ได้นะ! จะมาทำเป็นตีเสมอเป็นเพื่อนนายไม่ได้!

 

บุคคลที่มีความคิดเช่นนี้อาจทำให้ขาดมิตรไมตรีจากผู้ใต้บังคับบัญชา   เพราะคนที่เหนือกว่าถ้าไม่มีความรักความเมตตา ไม่มีความเป็นเพื่อนให้กับผู้ด้อยกว่า เขาย่อมไม่กล้าแสดงไมตรีตอบนาน ๆ ไปถ้าไม่อยู่กับความโดดเดี่ยวเงียบเหงา หรือเมื่อต้องถอดหัวโขนออก ก็ต้องอยู่คนเดียวไม่มีเพื่อนตลอดไป  ขณะเดียวกัน  ไม่ใช่เล่นสนุกสนานไม่เป็นการเป็นงานจนลูกน้องไม่เกรงใจ หรือให้ความอุปถัมภ์อุ้มชูจนลูกน้องไม่คิดจะช่วยเหลือตัวเองกลายเป็นภาระ

                 

การให้ความเป็นเพื่อนกับผู้ใต้บังคับบัญชา  ต้องอยู่ในขอบข่ายของความเมตตากรุณา ไม่มากเกินไป และไม่ใช่เอาเปรียบด้วยการเก็บเขาเอาไว้ใช้ส่วนตัว หรือเพื่อเป็นการหาผลประโยชน์แต่เป็นการให้คำปรึกษาชี้แนะ  ให้ความรู้ความเข้าใจ ให้ความรู้สึกที่ดี เพื่อที่ว่าอย่างน้อยถ้าเขามีปัญหารุนแรง เขาจะได้กล้ามาปรึกษา หรือขอความช่วยเหลือเรา ถึงแม้เราเองจะทำไม่ได้มากหรือบ่อยนัก แต่การรู้การเข้าใจในปัญหาของเขา  จะสามารถแนะนำให้เขาไปขอความช่วยเหลือจากผู้ที่สามารถช่วยแก้ไขได้โดยตรง   ก็จะเป็นการลดปัญหาสังคมไปได้มากเช่นกัน 

                 

สรุปการให้ความเป็นเพื่อนกับคนใกล้  ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระดับใด  ให้ระลึกไว้เสมอว่า  นอกจากความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา  พ่อแม่ พี่น้องเพื่อน คู่รัก ลูกจ้างนายจ้างแล้ว   ยังมีความเป็นเพื่อนที่เราไม่ควรมองข้ามไป   เพราะถ้าคนใกล้เรายังให้ไม่ได้ จะคาดหมายไปให้คนอื่น ไปช่วยคนอื่นได้อย่างไร       

               

คนประเภทไหนไม่มีเพื่อน

 

                คนมากมายชอบพูดว่าตัวเองไม่มีเพื่อน  ซึ่งฟังดูแล้วจะสะท้อนให้เห็นว่าเป็นคนที่มีสุขภาพจิตไม่ดี  มักจะตกเป็นทาสอารมณ์ของตัวเอง  มีความโกรธ ความเกลียด ความเคียดแค้นชิงชัง  ไม่พึงพอใจในสถานภาพของตนเอง นึกถึงแต่ความต้องการของตนเอง มีความอิจฉาริษยาในความสงบสุขและโชคลาภของผู้อื่น ชอบเอาตัวไปเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วก็กลับมานั่งน้อยใจเสียใจในตัวเอง

                นอกจากนั้นคนที่ชอบเอาตนเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่นคือ  คนที่ชอบทำร้ายตนเอง เพราะการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่นเป็นการเสี่ยงต่อการได้รับความบาดเจ็บทางจิตใจ เพราะเท่ากับว่าเรามองหาแต่ความดีความเด่นของเขา  เพื่อทำให้ตนเองต่ำต้อยด้อยค่าลงไป  เมื่อเราเอาตนเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เราก็จะพบแต่ความด้อยในคุณค่าของตนเอง  หรือถ้าเราพบว่าตนเองดีกว่าเหนือกว่าผู้อื่น เราก็มองไม่เห็นคุณค่าของผู้อื่น  ทำให้ชีวิตเราขาดเพื่อน  ขาดคนที่เข้าใจเห็นอกเห็นใจเพราะเราไปยึดมั่นถือมั่นว่าเราเหนือกว่าใคร ดีกว่าใคร ใคร ๆ ก็ไม่เข้าใจเราเช่นกัน  ผู้คนมากมายมักเรียกร้องให้คนอื่น ๆ เข้าใจ "ตน" หรือถ้าเข้ากับใครไม่ได้ก็จะกล่าวหาไว้ก่อนว่า  คนอื่นไม่พยายามเข้าใจตัวเอง  โดยลืมไปว่า ถ้าตัวเองยังไม่เข้าใจตัวเองแล้ว  คนอื่นจะเข้าใจได้อย่างไร และมากแค่ไหนที่ตัวเราเข้าใจคนอื่น หรือสนใจผู้อื่น เพราะฉะนั้นคนที่ยึดมั่นถือมั่นในตนเองก็จะกลายเป็นคนขาดเพื่อน                

เพราะฉะนั้นคนที่รักตนเอง  ย่อมไม่เอาตนเองเข้าไปเปรียบเทียบกับใคร ๆ   คน ที่รู้จักคุณค่าของชีวิต  ย่อมมองเห็นคุณค่าของผู้อื่น เห็นคุณค่าของตนเอง ให้การยกย่องผู้อื่น แล้วจึงจะเป็นคนที่มีเพื่อน     คนที่อยากมีเพื่อนต้องรู้จักให้ความเป็นเพื่อนกับคนอื่นโดยการยอมรับ ให้ความนับถือเขาในฐานะของคนคนหนึ่ง  ซึ่งไม่จำเป็นต้องดีเลิศและไม่ใช่เลวไปเสียทุกอย่าง เราต้องเข้าใจว่าคนทุกคนอยากมีเพื่อนดีด้วยกันทั้งนั้น   อะไรที่เราคิดว่าถูกต้องเหมาะสม  เราก็สามารถตักเตือนว่ากล่าวกันได้  การเหยียบย่ำซ้ำเติมจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น  อย่างน้อยก็ไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขเขาได้ การยอมรับเขาในฐานะของเพื่อนมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งก็ช่วยให้โลกนี้แจ่มใสขึ้น

    

การที่เรามองเห็นคนคนหนึ่งกระทำผิด หรือไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร เราอย่าเพิ่งไปแสดงความรังเกียจหรือลงโทษเขา พิพากษาเขาว่าไม่ดีเพราะการที่เรารู้สึกเช่นนั้นอาจเป็นเพราะ  เราใช้ตนเองเป็นมาตรฐานในการวัด

 

ขณะเดียวกันต้องตระหนักว่า  คนแต่ละคนมีพื้นฐานมาไม่เหมือนกัน  การอบรมเลี้ยงดูต่างกัน  การศึกษาไม่เท่าเทียมกัน   และประสบการณ์ของชีวิตก็ต่างกัน  เราทุกคนจึงมีเอกลักษ์เฉพาะตัวที่ต่างต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหากันและยอมรับกันได้ในระดับหนึ่ง   เพราะฉะนั้นการจะคบหาใครเป็นเพื่อน จึงต้องให้ความเคารพในขอบข่ายของกันและกันด้วย

 

 
 
  Counter 203,639
 
 
© 2012 Thaiteenline. All Rights Reserved. หน้าหลัก | ความเป็นมา | กฎหมายเด็กและครอบครัว | วัยรุ่นอยากรู้ | บทความวัยรุ่น | ฮอทไลน์เคลื่อนที่ | ติดต่อเรา