Thaiteenline-logo
home about law teens article hotline contact
 
     
 

ใครคือเพื่อน

ใครคือเพื่อน

 

           อยู่คนเดียวเปล่าเปลี่ยวหัวใจนัก          อยากรู้จักทักทายใครกันหนอ

           มายืนยิ้มพริ้มพรายชายตาล้อ            ทำเสียงอ้อแอ้อายน้ำลายไหล

          ร่างเล็กอวบขาวชมพูดูสดชื่น               หัวเราะรื่นหน้าเป็นเห็นบ้างไหม

           เสียงกรีดก้องร้องเรียกแม่มาแต่ไกล โอ้ดวงใจ(มา)เป็นเพื่อนแม่นะแม่คุณ

 

                ไม่มีใครอยู่คนเดียวในโลกนี้  ตั้งแต่แรกเกิด เมื่อเราลืมตาดูโลกออกมาเป็นครั้งแรก แม่ พ่อและแพทย์คือเพื่อนรุ่นแรกหรือกลุ่มแรกของเรา และเมื่อวันเวลาผ่านไป  เราเติบโตขึ้นเป็นเด็ก  เป็นผู้ใหญ่ ชีวิตก็ผูกพันกับผู้คนมากมายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทุกคนคือ “เพื่อน” ของเรา

               

มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์เมือง ซึ่งต้องการที่จะอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เป็นเหล่า เป็นกลุ่ม เป็นคณะ เป็นชุมชน เป็นสังคม  ไม่มีใครต้องการหรือสามารถจะอยู่ได้ตามลำพัง

แต่ถ้าเราจะต้องถูกสถานการณ์บังคับให้อยู่คนเดียวเล่า  หรือเพียงแต่มีความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียวตามลำพัง  ขาดพวกพ้องเพื่อนฝูง  ขาดคนเข้าใจ  ไม่มีคนสนใจ  ไม่มีใครรักใคร่เอาใจใส่  เราจะทำอย่างไร

เคยบ้างไหมที่ท่านกลางความสับสนวุ่นวายบนท้องถนน  เรากลับรู้สึกเหงา ในสังคมที่เต็มไปด้วยผู้คน  ในที่ที่มีคนขวักไขว่ไปมา  แต่ตัว “เรา” กลับรู้สึกเหมือนอยู่คนเดียวในโลกนี้…ชีวิตจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีเพื่อน?

คงเหมือนกับต้นไม้ที่ขาดน้ำประพรมให้ชื่นใจ   คงคล้ายกับทะเลทรายที่แห้งแล้งและว่างเปล่า แต่การที่มีใครสักคนที่มีความเข้าใจ ให้ความเห็นอกเห็นใจหรือใครสักคนที่สามารถแต่งเติมให้ชีวิตดูมีสีสัน และจิตใจที่ห่อเหี่ยวกลับเต็มตื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง  คนคนนั้นแหละคือ เพื่อน และเพื่อนไม่ได้เพียงเป็นแค่คนที่มีชีวิตเท่านั้น  แต่ธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม  สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ให้ความรู้สึกสดชื่นและเป็นมิตรล้วนเป็นเพื่อนของเราได้ทั้งสั้น

นับตั้งแต่สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างเกษตรกรรมมาสู่อุตสาหกรรม หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตเริ่มไม่เหมือนเก่า สังคมเล็ก ๆ  ที่ทุกคนหรือทุก ๆ หน่วยในสังคมรู้จัก คุ้นเคย มีความสนิทสนมคอยพึ่งพาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ประดุจญาติมิตรเสมอมาค่อย ๆ หดหายไปกับกาลเวลา ความเป็นอยู่แบบตะวันตก  ความเป็นรูปแบบอุตสาหกรรมที่ดูแปลกแยกไปจากที่เราเคยอยู่  เพราะฉะนั้นนอกจากสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ที่สับสนวุ่นวายจะดึงเวลาไปจากเราแล้ว การแข่งขันทำให้เกิดความรู้สึกห่างเหิน ไม่เชื่อใจ ไม่ไว้วางใจใครง่าย ๆ กลายเป็นความแปลกหน้า กันคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาใกล้เรา

ยังมีคนอีกมากมายที่ยังหาคำตอบของคำว่า  ใครคือเพื่อนไม่ได้ ในห้องเรียนหรือข้างโต๊ะทำงานของคุณ คุณรู้จักชื่อนามสกุลของเขาเป็นอย่างดีแล้วหรือยัง? คุณเคยให้ความสนใจกับเขาไหม? เคยคิดที่จะพูดคุยถามไถ่ ถึงความเป็นไปที่ผ่านมาของเขาหรือเปล่า  เคยแสดงความเอื้ออาทรห่วงใยเขาหรือเธอหรือไม่?

คุณอาจจะรวย คุณอาจจะจน คุณอาจจะมีกิน หรืออดอยาก แต่ความเหงา มันไม่เคยสนใจหรือเดินเลือกคุณอย่างที่คุณช็อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้า  เพียงแต่การที่อยู่ในฐานะเหนือกว่า  สูงกว่า  ร่ำรวยกว่า สมบูรณ์กว่า อาจสามารถแสวงหาวิธีชดเชยความว้าเหว่นั้นได้ดีกว่า  มากกว่าผู้คนที่ด้อยกว่า มีน้อยกว่าหรือยากจน ไร้ญาติขาดมิตร ตกงาน ขาดที่พึ่ง ตลอดจนผู้ที่ขาดเงิน งาน  สถานภาพทางสังคม และครอบครัว

บางคนบอกว่าความเหงามันมีมาตั้งแต่เกิด เขาพูดได้ถูกทีเดียวและผู้พูดยังกล่าวเพิ่มอีกว่า “แต่เราอย่าตกเป็นทาสของความเหงา มีอะไรอีกตั้งมากมายที่รอคอยอยู่ข้างหน้า  ชีวิตของคนต้องมีความหวัง มีพลัง มีกำลังใจ”  แล้วคุณล่ะ  คุณมีความหวัง มีพลัง มีกำลังใจอย่างไรบ้าง และนั่นคือจุดเริ่มต้นหรือที่มาของศูนย์ฮอทไลน์ในการหยิบยื่นความเป็นเพื่อน ให้กับผู้คนในสังคมอันสับสนวุ่นวายนี้

ทั้งผู้ใหญ่และผู้รับต่างรักษาข้อจำกัดส่วนบุคคลของตนไว้ได้  ในขณะเดียวกันผู้ที่จะให้ความเป็นเพื่อนได้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้พิเศษ นอกเหนือจากความตั้งใจที่จะให้เวลา   ในการฟังคำพูดของผู้อื่นอย่างมีสมาธิ มั่นคง สุขุม เยือกเย็น ไม่รีบด่วนกระโจนเข้าไปดุว่า  สั่งสอน แนะนำ หรือตัดสินใจให้กับใครก่อน การให้กำลังใจสามารถช่วยให้ผู้นั้นยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความมั่นคง

 

…หรือจะพูดอีกอย่างว่า  เราจะได้เพื่อนหรือเสียเพื่อนที่เริ่มรู้จักกันเป็นครั้งแรกก็ตรงนี้แหละ  เมื่อพบกันเป็นครั้งแรก  จะทำอย่างไรให้ผู้พบเห็นเกิดความรู้สึกที่ดี  ไม่จำเป็นต้องมาชอบจนแทบคลั่งไคล้ไหลหลง  อยากเจอเหลือเกิน เมื่อไรจะพบอีก อยากพบเห็น นั่นไม่ใช่ความรู้สึกของความเป็นเพื่อน เมื่อแรกเริ่มมีการแนะนำให้รู้จัก ก็ทักทายตามปกติ ลองดูตัวอย่างนี้นะ

สมศรี                      “สมศักดิ์ นี่เพื่อนสนิทเรา ชื่อ สมหญิง”

สมหญิง                  “สวัสดีค่ะ”

สมศักดิ์                    “หวัดดีครับ!  สมศรี ทำไมเพื่อนเธอคนนี้ อ้วนเหมือนเธอเลยล่ะ แหม! มิน่าละ             

               ถึงเป็นเพื่อนกันได้”

 

ถ้าท่านได้ยินประโยคที่สมศักดิ์พูดออกมานี้  คิดว่าสมหญิงอยากจะสนทนาต่ออีกหรือไม่? และเธอจะมีความรู้สึกอย่างไรกับสมศักดิ์?  แต่ถ้าสมศักดิ์พูดว่า

สมศักดิ์                    “สวัสดีครับ  ได้ยินชื่อคุณมาตั้งนาน  เพิ่งจะได้พบตัววันนี้แหละ  ยินดีที่ได้รู้จักครับ  หวังว่าคงจะได้มีโอกาสพบกันอีกจะครับ”

 

การให้ความเป็นเพื่อนคือ  การให้ความเห็นอกเห็นใจ  ให้ความรู้สึกที่ดี  และการสร้างความเป็นมิตร    สร้างทัศนคติที่ดีตั้งแต่แรกเห็น  ไม่จำเป็นที่จะต้องไปวิจารณ์ หรือพยายามชี้ให้เขาเห็นความบกพร่องของเขาตั้งแต่แรกพบปะกัน

แต่ไม่ได้หมายความว่าการให้ความเป็นเพื่อนกับใครแล้วจะบอกอะไรกับเขาหรือเธอไม่ได้เลย  เพียงแต่ต้องเริ่มที่การให้เวลา  ให้โอกาส และให้ความเป็นมิตรจะเป็นการเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายหนึ่งได้แนะนำตนเองพูดถึงเรื่องตนเอง เพื่อให้บุคคลที่พูดอยู่ด้วยนั้นเรียนรู้ที่จะเข้าใจในความเป็นไปของเขา  ทุกคนต้องการแสดงออกเหมือนกันหมด  จะมีตัวอย่างในการสร้างความเป็นมิตรในสถานที่ที่มีกรติดต่อพบปะผู้คนมาก ๆ เช่น เพื่อนในชีวิตประจำวันกับมรรยาทในการต้อนรับ

ในชีวิตประจำวัน  การให้ความเป็นเพื่อนอาจเริ่มต้นขึ้นเมื่อเรายกหูโทรศัพท์และกล่าวคำแนะนำตัวตอบรับผู้โทรฯ  มันก็เหมือนกับการเปิดประตูบ้านเพื่อเชื้อเชิญให้เพื่อนเข้ามาภายในด้วยท่าทีนุ่มนวลสายตาเป็นมิตรรอยยิ้มที่อบอุ่น  และมีไมตรีจิต สิ่งนี้แหละที่เป็นการเริ่มถ่ายทอดความเป็นเพื่อนให้กับคนแปลกหน้าแล้ว  ฉะนั้นทุก ๆ คำในการกล่าววาจาไปทางโทรศัพท์เป็นเสมือนตัวแทนของบุคคลหรือสถานที่

การเริ่มต้นพูดจาพบปะเป็นครั้งแรก  ความประทับใจนั้นจะมีอยู่ในความทรงจำของผู้ติดต่ออย่างต่อเนื่องตลอดไป  โดยเฉพาะสถานที่ที่มีการติดต่อพบปะผู้คนมาก ๆ  หรือมีการใช้โทรศัพท์เป็นสื่อในการประสานงาน  อย่างเช่น การใช้โทรศัพท์ติดต่อกับโรงพยาบาลหรือบริษัทห้างร้านต่าง ๆ หรือศูนย์ฮอทไลน์ ผู้โทรฯ ย่อมต้องมีจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการให้บริการของสถานที่นั้น เช่น  โทรฯ ไปโรงพยาบาลเพื่อสอบถามเวลาการทำงานของแพทย์เฉพาะทางหรือเพื่อขอคำแนะนำปรึกษา

 

นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งในการสื่อสารที่จะสร้างความเป็นมิตรกับผู้โทรฯ  ชื่อเสียงหรือความประทับใจในครั้งแรกที่เกิดขึ้น หมายถึง ภาพลักษณ์ของสถานที่นั้นทั้งหมด  ไม่ไช่เพียงแต่คนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวทั้งหมดจะได้ถูกจารึกลงไปในความคิดครั้งแรกว่าสถานที่นั้น คนนั้นเป็นอย่างไร?  ถ้าพลาดในการสร้างความประทับใจครั้งแรก ภาพลักษณ์ของทั้งหมดก็จะเสียไป

โรงพยาบาลโดยทั่วไปโดยเฉพาะตามต่างจังหวัดแล้ว  เมื่อก้าวย่างเข้าไปในตัวตึกตามระเบียงต่าง ๆ จะพบว่า มีญาติของคนไข้มานั่งนอนเรียงรายอยู่มากมาย  ซึ่งคนเหล่านี้ก็จะมีคำถามเล็ก ๆ น้อย มากมายคอยไต่ถามเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอยู่เสมอ  การเป็นบุคลากรที่ดีของโรงพยาบาลนั้นไม่ว่าจะทำหน้าที่ติดต่อ สอบถาม โดยตรงหรือไม่ ก็สามารถเป็นประชาสัมพันธ์ที่ดีคนหนึ่งได้  ชาวบ้านเหล่านี้บางคนด้วยความมีศรัทธาในสถาบันของรัฐ จึงได้มา  ถ้าได้รับการต้อนรับที่ดีและการพูดคุยทักทายที่อบอุ่นมีเมตตาแล้วเขาก็จะพึงพอใจ  บางรายอาจกลับบ้านไปโดยไม่ต้องได้รับการรักษาก็ได้ เพราะอะไร?  เพราะเขารู้สึกพอใจแล้วที่ได้พูดให้มีคนรับฟัง  ได้มีคนคอยสนอกสนใจและเอาใจใส่ความเป็นไปของเขา  ซึ่งทำให้เกิดความมั่นใจในตัวเขาขึ้นมาได้

พยาบาล                  “เป็นอะไร ไปจ๊ะลุง”

ลุง                            “เออ!  หมอ ลุงรู้สึกว่ามันปวดหลังนะซิ อยากให้คุณหมอตรวจสักหน่อย”

พยาบาล                  “แล้วลุง ไปทำอะไรมาล่ะ”

ลุง                            “ก็ทำไร่ไถ่นาตามปกติน่ะ”

พยาบาล                  “แล้วลุงพักผ่อนพอหรือเปล่าล่ะ”

ลุง                            “พอถมเถ มันไม่เคยเป็นเลย”

พยาบาล                  “แล้วมีอะไรผิดปกติบ้างที่บ้าน”

ลุง                            “ไม่มีนี่”

พยาบาล                  “ลองนึกดี ๆ สิคะ”

ลุง                            “ !?!   “

พยาบาล                  “เป็นไปได้ไหมคะว่า เตียงที่ลุงนอนมันนุ่มเกินไป หรือมันเรียบไม่เสมอกัน สูง ๆ ต่ำ ๆ”

ลุง                            “เออ!  จริงว่ะ ลุงรู้สึกเมื่อยหลังเมื่อนอนไอ้เตียงที่บ้านทุกที  ถ้าลุงไปเอาฟูกออกเสีย ลองนอนที่พื้นเรียบดู  มันอาจจะดีขึ้น  ลุงคงไม่ต้องหาหมอแล้วแหละ กลับบ้านดีกว่า ขอบใจมากนะหมอ”

พยาบาล                  “ถ้าลุงกลับไปบ้านแล้ว ยังไม่ดีขึ้น ค่อยกลับมาตรวจใหม่นะคะ”

ลุง                            “…” (ยิ้ม)  

 

พยาบาลได้ทำหน้าที่ง่าย ๆ โดยไม่ต้องเสียแรงงานอะไรมากมาย เพียงแต่เธอฟังเสียก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นกับลุง  นั่นคือการสร้างกำลังใจ  หรือความเชื่อมั่นให้กับลุงซึ่งคิดว่าตนเองป่วยการ ทำให้ใจป่วยไปด้วยเธอกำลังให้ความเป็นเพื่อนอย่างง่าย ๆ โดยไม่ได้เสียเวลาหรือทำผิดหน้าที่ที่ต้องทำอยู่เป็นปกติทุกวัน  

 

ในการเจ็บป่วยทางกายนั้น  จะเห็นได้ว่า  มากมายมีสาเหตุมาจากโรคทางใจ  เพราะฉะนั้น ถ้าเราได้มีการดูแลให้ความเอาใจใส่กับจิตใจของกัน และกันบ้าง จะทำให้ความเจ็บป่วยลดน้อยลง แต่ความเป็นเพื่อนที่จะให้นั้น เราจะต้องไม่ปล่อยให้ตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของคนหนึ่งคนใดมากเกินไป  ไม่ด่วนออกความเห็น หรือตัดสินใจให้ทุกคนคิดเป็น  มีความเป็นตัวเองแต่จะมากน้อยแค่ไหน  นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดูอย่างที่พยาบาลเพียงแต่พูดคุยด้วย  ลุงก็เริ่มทบทวนเรื่องราวของตนเอง ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขาจริง พยาบาลเพียงแต่ให้การสนับสนุนทางด้านอารมณ์เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

เพราะฉะนั้น เพียงแต่เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมที่จะยืนเคียงข้างในเวลาที่บุคคลนั้นต้องการกำลังใจการสนับสนุนทางด้านอารมณ์ ต้องการความเข้าใจ และพลังใจในการต่อสู้กับสุขภาพที่กำลังทรุดโทรมหรือสำหรับผู้โทรฯ มาพูดคุยปรึกษา นั่นคือชีวิตที่กำลังสับสนวุ่นวาย และเรียกหาคำว่า “เพื่อน”

 

การให้ความเป็นเพื่อนทางโทรศัพท์

 

การจะให้ความเป็นเพื่อนทางโทรศัพท์ได้ต้องมีความอดทน ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ จะต้องเป็นนักฟังที่ดี มีสมาธิ จดจ่อกับความนึกคิดของเขา  ตั้งใจฟังคำพูดทุก ๆ คำที่เขาเอ่ยปากออกมา และแสดงความเห็นใจ คำปลอบประโลม คำสนับสนุนส่งเสริม ให้กำลังในแก่ผู้พูดหรือผู้โทรฯ ในการระบายสิ่งที่อยู่ในใจออกมาให้หมด อย่าถามคำถามไร้สาระ

ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยเราไม่ชอบเปิดเผยเรื่องส่วนตัวให้ใครรับรู้  นอกจากจะแน่ใจเสียก่อนว่าจะมีความไว้วางใจและมั่นใจว่าบุคคลนั้นจะไม่นำเรื่องของตนไปเปิดเผยให้บุคคลอื่น ๆ หรือเป็นบุคคลที่อยู่ในวงการเดียวกันกับเขารู้  การแสดงออกว่ารู้ถึงบุคคลที่เราปรึกษาปัญหาด้วยเป็นใคร  ชื่อสกุลจริงอะไรอาจทำให้เกิดความระแวงสงสัยและไม่กล้าเล่าปัญหาของตนเอง

เมื่อผู้ปรึกษาพอใจที่จะปรึกษาด้วยแล้ว  หรือเพียงแต่พอใจความเป็นเพื่อนที่ให้หรือกรณีที่เขารู้สึกว่า “เรา” คงจะช่วยอะไรเขาไม่ได้อย่างที่คาดหวังแล้ว เราต้องยอมรับการตัดสินใจขั้นนี้ของเขา  ไม่เซ้าซี้แก้ตัวแต่ให้กำลังใจและความมั่นใจว่า  เราสนใจเขาและมีความยินดีเสมอ  ถ้าหากเขาต้องการจะคุยกับเราอีกเมื่อใด  ทั้งจะไม่นำเรื่องของเขาไปเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

การให้ความเป็นเพื่อนในแต่ละสถานการณ์ย่อมแตกต่างกันไป  ความรู้สึกอันละเอียดอ่อน(Sensitivity)  ก็ไม่เหมือนกัน ความถูกต้องสำหรับกรณีหนึ่งอาจจะไม่เหมาะสมกับอีกกรณีหนึ่งที่คล้ายคลึงก็ได้ เพราะฉะนั้นการสร้างความเป็นเพื่อน คือ การสร้างความรู้สึกอบอุ่นของเราออกไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องอาศัยคำพูด สามัญสำนึกและความรู้สึกจะเป็นผู้เปิดประตูไปสู่ความเป็นเพื่อนได้อย่างดียิ่ง                                                                   

 

 
 
  Counter 203,632
 
 
© 2012 Thaiteenline. All Rights Reserved. หน้าหลัก | ความเป็นมา | กฎหมายเด็กและครอบครัว | วัยรุ่นอยากรู้ | บทความวัยรุ่น | ฮอทไลน์เคลื่อนที่ | ติดต่อเรา